“บริษัทเครื่องนุ่งห่มเร่งสนองนโยบายรัฐ”
ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)
บริษัท AOYAMA TRADING Co., Ltd. ผู้ผลิตเสื้อผ้าบุรุษรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เริ่มตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือ Human Rights Due Diligence ของบริษัทคู่ค้าในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ด้านบริษัท Adastria Co., Ltd. ได้รับรองโรงงานที่มีการบริหารงานอย่างเหมาะสมซึ่งบริษัทรับรองโรงงานเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ห่วงโซอุปทานส่วนใหญ่มีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศ กำลังเร่งตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท AOYAMA TRADING Co., Ltd. ได้ทำการสำรวจโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ในประเทศอินโดนีเซีย โรงงานนี้มีจำนวนพนักงาน 1,300 คนและเป็นหนึ่งในโรงงานคู่ค้าสำคัญของบริษัท การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งแรก โดยบริษัทได้ทำการสอบถามและรับฟังข้อมูลในวงกว้างทั้งจากพนักงานระดับหัวหน้าสายการผลิตตลอดจนถึงพนักงานระดับแรงงาน เพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยพิจารณาอย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นด้านการสอนงานที่เหมาะสม การได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี อุบัติเหตุในโรงงาน มีการจัดตั้งและส่งเสริมให้ใช้ระบบร้องเรียนภายในที่สามารถรองรับได้หลายภาษาร่วมกับโรงงานเมื่อมีข้อร้องเรียนจากพนักงานเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการคุกคามด้านสิทธิมนุษยชน สำหรับบริษัท AOYAMA TRADING Co., Ltd. มีบริษัทคู่ค้าขั้นปฐมภูมิ 620 บริษัท (ณ ปีงบประมาณ 2565) โดยร้อยละ 60 อยู่ในประเทศจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ซึ่งบริษัทมีแผนสำรวจโรงงานในประเทศเหล่านี้ปีละ 1 – 2 แห่ง
บริษัท UNITED ARROWS LTD. ได้ทำการตรวจสอบโรงงานโดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ซึ่ง ณ เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการตรวจสอบโรงงานคู่ค้าภายในประเทศเสร็จสิ้นแล้ว 6 แห่ง และมีแผนที่จะสำรวจโรงงานในต่างประเทศต่อไป สำหรับบริษัท Adastria Co., Ltd. มีการรับรองโรงงานที่มีผลสำรวจระดับดีให้เป็น “โรงงานพาร์ตเนอร์” โดยการรับรองจะพิจารณารวมถึงด้านอื่นด้วย เช่น ปริมาณการค้าขาย ระยะเวลาที่ทำธุรกิจร่วมกัน และคุณภาพสินค้า เป็นต้น โรงงานที่ได้รับรองว่าเป็น “โรงงานพาร์ตเนอร์” ในปี 2566 มีจำนวน 49 แห่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 60 ซึ่งบริษัทให้ความเห็นว่า “การรักษาความสัมพันธ์กับโรงงานที่สามารถไว้วางใจได้ทั้งในด้านของคุณภาพและการเปิดเผยข้อมูลนั้น จะนำสู่การปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสมในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน”
การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ได้แพร่หลายภายในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดนโยบาย โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้เผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเป็นการผลักดันให้บริษัทต่างๆดำเนินการตรวจสอบ บริษัท AOYAMA TRADING Co., Ltd. ให้ความเห็นว่า “เมื่อรัฐบาลโบกธงนำ นักลงทุนเริ่มจับตามอง ทำให้บริษัทเครื่องนุ่งห่มที่มีเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในต่างประเทศจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ”
บริษัทเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อย่าง FAST RETAILING CO., LTD. ได้เริ่มบริหารจัดการเครือข่ายห่วงโซอุปทานโดยครอบคลุมถึงคู่ค้าขั้นที่ 4 หรือผู้ผลิตวัตถุดิบ ในขณะที่บริษัทเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ส่วนใหญ่ยังทำการตรวจสอบถึงเพียงคู่ค้าขั้นปฐมภูมิหรือโรงงานตัดเย็บ แต่บริษัท FAST RETAILING CO., LTD. ได้ทำการตรวจสอบไปจนถึงประวัติการผลิตวัตถุดิบ โดยเริ่มตรวจสอบจากวัตถุดิบที่ทำจากฝ้าย และในอนาคตบริษัทจะกำหนดฟาร์มเพาะปลูกและฟาร์มปศุสัตว์เพื่อจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ถูกกำหนด
การแพร่หลายของการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านในประเทศญี่ปุ่นนั้น เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น โดยเมื่อปีงบประมาณ 2565 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ได้ทำการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจในต่างประเทศประมาณ 3,000 บริษัท ผลการสำรวจพบว่า มีบริษัทที่ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านเพียงร้อยละ 11
เจ้าหน้าที่บริษัทเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ได้ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการโดยว่าจ้างหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบนั้น จะมีค่าใช้จ่ายประมาณกว่า 1 ล้านเยน (ประมาณกว่า 250,000 บาท) ต่อโรงงาน 1 แห่ง จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้บริษัทหลายแห่งลังเลเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง สิ่งที่บริษัทอาจต้องพิจารณาต่อไปคือ ทำอย่างไรให้การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านที่มีต้นทุนสูงสามารถนำสู่การพัฒนาคุณค่าบริษัทให้ดีขึ้นต่อไปได้
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
บริษัทเอกชนญี่ปุ่นเริ่มตื่นตัวเรื่องการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีเครือข่ายห่วงโซอุปทานในต่างประเทศอย่างอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญในแนวคิด ESG ที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ทำให้บริษัทรายใหญ่ตื่นตัวในเรื่องนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซอุปทานของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มญี่ปุ่นเช่นกัน มีบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่หลายรายที่มีฐานผลิตและซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคู่ค้าเป็นบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่น และควรเตรียมความพร้อมเพราะบริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทให้ความสำคัญและเริ่มเร่งดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
ฉบับที่ 11 ประจำวันที่ 9 – 15 ธันวาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2566
อ่านข่าวฉบับเต็ม : “สัดส่วนขายปลีกสินค้า PB (Private Brand) สูงขึ้น”