คณะรัฐบาลชิลีนำโดยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (นาย จอร์โจ โบคาร์โด) และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (นาย มาริโอ มาร์เซล) ร่วมกับประธานสหภาพแรงงานของชิลี (นายเดวิด อคูญา) ได้ร่วมประกาศการบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ[1] โดยจะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ซึ่งระยะแรกจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี จาก 510,636 เปโซชิลีต่อเดือน (17,694 บาท)[2] เป็น 529,000 เปโซชิลีต่อเดือน (18,330 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป และระยะที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.9 จาก 529,000 เป็น 539,000 เปโซชิลีต่อเดือน (18,676 บาท) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 ทำให้อัตราค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นรวมร้อยละ 5.5
ทั้งนี้ สำหรับแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ มากกว่า 65 ปี จะได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน จาก 380,923 เปโซชิลี (13,199 บาท) เป็น 394,622 เปโซชิลี (13,674 บาท) ต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 และจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น 402,082 เปโซชิลี (13,932 บาท) ต่อเดือน ในวันที่ 1 มกราคม 2569
นอกจากนี้ทางรัฐบาลได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน Worker´s Income and Cost of Living Observatory ขึ้น เพื่อติดตามการกระจายรายได้ อำนาจในการซื้อ สภาพทางการเงิน และความเป็นอยู่ของแรงงาน รวมถึงข้อมูลทางเทคนิคอื่น ๆ สำหรับการประเมินองค์ประกอบ เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะในอนาคต โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและสหภาพแรงงานของชิลีเป็นอย่างดี โดยประธานสหภาพแรงงานของชิลี (นายเดวิด อคูญา) ได้กล่าวว่าความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่เป็นรูปธรรมในการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่จะช่วยแบ่งเบาภาระและยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น โดยเน้นย้ำว่าแรงงานควรได้รับการดูแลด้านสวัสดิการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและได้รับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพ
บทวิเคราะห์ / ความเห็น สคต. ณ กรุงซันติอาโก
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ทำให้ชิลีกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา สคต.ฯ เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวเป็นผลดีต่อกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย เนื่องจากค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อสะสมของชิลีในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างสูงโดยอยู่ที่ร้อยละ 4.5 หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อตามหมวดหมู่ของสินค้า อาทิ หมวดที่อยู่อาศัย-สาธารณูปโภค และหมวดร้านอาหาร จะพบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.6 และ 6.7 ตามลำดับ การปรับเพิ่มค่าแรงดังกล่าวจึงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือชดเชยการสูญเสียอำนาจในการซื้อให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภคและช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม อีกทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบที่ได้ค่าแรงต่ำกว่าที่ควรให้เข้าสู่ระบบ เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐด้านการจัดเก็บภาษี ส่วนแรงงานก็จะได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการตามกฏหมาย
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้การจ้างงานและต้นทุนของธุรกิจมีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากรายงานนโยบายการเงินของธนาคารกลางชิลีในปี พ.ศ.2567[1] พบว่าค่าจ้างเฉลี่ยของบริษัทที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่งผลกระทบเชิงลบให้การจ้างงานของบริษัทลดลงถึงร้อยละ 1.16 โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ต้องมีการพึ่งพาการใช้แรงงานจำนวนมาก อาทิ ภาคการก่อสร้าง การผลิต การบริการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีจำนวนคนงานที่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด สอดคล้องกับการสำรวจตลาดของ สคต.ฯ ที่พบว่า ประเทศชิลีมีการปรับใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่แรงงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดต้นทุน เช่น ระบบรับออเดอร์ในร้านอาหาร เครื่องรับชำระเงินแบบ Self Service ในห้างซูเปอร์มาร์เก็ต ระบบ Self Check-in ของสายการบิน การทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ของธนาคาร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการดูแลลูกค้า (Customer Service) และตอบคำถามต่าง ๆ แทนพนักงานรับโทรศัพท์ เป็นต้น
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2568 เผยว่าอัตราว่างงานของชิลีอยู่ที่ร้อยละ 8.8[2] ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยจำนวนแรงงานของชิลีในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในขณะที่ผู้ที่มีงานทำเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 โดยมีแรงงานอีกกว่า 9.1 แสนคนยังคงว่างงาน ทั้งนี้ สคต.ฯ คาดว่าสถานการณ์ตลาดแรงงานของชิลีอาจซบเซาต่อไปอีก เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว อัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น การปรับลดจำนวนแรงงานและแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ-ปัญญาประดิษฐ์ ประกอบกับปัจจัยภายนอกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา และภาวะสงครามในหลายประเทศ
ประเทศชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฏหมายคุ้มครองแรงงานที่เข้มงวด ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นสร้างความท้าทายให้กับธุรกิจ และอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศโดยการจ้างงานในประเทศชิลี นายจ้างจะต้องประเมินถึงความคุ้มค่าของผลงาน/ผลผลิตที่จะได้ เนื่องจากอาจเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นในอนาคต อาทิ ค่าชดเชยหากต้องมีการปลดออก หรือในช่วงที่พนักงานลาคลอดบุตรหรือลาป่วยติดกันระยะยาว ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างและประกันสังคมของผู้มาทำงานแทน และยังต้องจ่ายค่าประกันสังคมของผู้ที่ลางานด้วย โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลีว่า อัตราการขาดงานในชิลีมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 8.3[3] จากจำนวนแรงงานทั้งหมด โดยเป็นการขาดงานเฉลี่ยปีละ 2 วัน[4] และเป็นการลาป่วยเฉลี่ยปีละ 14 วัน
สคต.ฯ คาดว่าจากการที่ธุรกิจในชิลีต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นโอกาสในการส่งออกของไทยในสินค้ากลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (พิกัดศุลกากรที่ 84) เพื่อเข้ามาใช้แทนที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2568 ชิลีนำเข้าสินค้าจากไทยในกลุ่มนี้มากเป็นอันดับที่ 2 จากประเทศในกลุ่มอาเซียน และอันดับที่ 14 ของโลก โดยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 31.5 รวมมูลค่ากว่า 45.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในส่วนของผู้บริโภคชาวชิลี ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) ของชิลีจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยอำนาจในการซื้อ (Purchasing Power Parity) จะเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 0.3[1] หมายความว่าโดยเฉลี่ยชาวชิลีจะมีอำนาจในการจับจ่ายเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าค่าเฉลี่ยรายได้ประชาชาติต่อหัวกับค่าแรงขั้นต่ำจะแตกต่างกันกว่า 5 เท่าก็ตาม โดยสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาดชิลีและมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (พิกัดศุลกากรที่ 84) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 (2) รถยนต์ (พิกัดศุลกากรที่ 87) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 (3) เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า (พิกัดศุลกากรที่ 85) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 (4) ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก (พิกัดศุลกากรที่ 39) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 (5) ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม (พิกัดศุลกากรที่ 30) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0
_____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2568
[1] https://www.imf.org/external/datamapper/PPPPC@WEO/CHL?zoom=CHL&highlight=CHL
[1] https://www.ex-ante.cl/banco-central-el-fuerte-impacto-del-alza-del-salario-minimo-en-las-pymes-y-el-empleo-formal/
[2] https://www.ine.gob.cl/press-room/news/2025/06/09/the-national-unemployment-rate-was-8.8-in-the-february-april-2025-quarter
[3] https://www.ine.gob.cl/docs/default-source/employment-and-unemployment/bulletins/2025/employment-february-april-2025.pdf?sfvrsn=87d1ea05_6
[4] https://www.bls.gov/cps/cpsaat47.htm
[1] https://www.senado.cl/comunicaciones/noticias/salario-minimo-hacen-presente-posibles-implicancias-en-desempleo-e
[2] อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2568 ที่ 1 บาท ต่อ 28.86 เปโซชิลี
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มตลาดแรงงานชิลีหลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ