วัฒนธรรมการให้ของขวัญถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แพร่หลายในสังคมของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการให้ของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญ การพบปะสังสรรค์ การให้เพื่อแสดงความเคารพ หรือแสดงความปรารถนาดี จีนจึงเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคของขวัญรายใหญ่มาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน กลุ่มสินค้าประเภทของขวัญได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดของขวัญมีทิศทางที่สดใส โดยจากสถิติพบว่า ขนาดตลาดของขวัญของจีน ในปี 2564 มีมูลค่า 1.39 ล้านล้านหยวน (6.95 ล้านล้านบาท) และในปี 2565 การเติบโตของตลาดของขวัญก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.64 ล้านล้านหยวน (8.20 ล้านล้านบาท) คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.99 (หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)
โครงสร้างตลาดของขวัญ
ของขวัญมีหลากหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องหนัง กระเป๋า งานฝีมือ เครื่องใช้ในบ้านขนาดเล็ก ของใช้ในครัวเรือน เครื่องเขียน และของสมนาคุณส่งเสริมการขาย ฯลฯ โดยในปี 2565 ของตกแต่งบ้าน ครองสัดส่วนตลาดของขวัญจีนสูงสุดที่ร้อยละ 23 รองลงมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ร้อยละ 21.2 ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำลังการบริโภคหลักได้ผลัดเปลี่ยนมาเป็นกลุ่ม Gen Z ทำให้ประเภทความต้องการของขวัญเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่มีความทันสมัย และมีทิศทางความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่ม Gen Z จึงทำให้ของขวัญประเภทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ครองสัดส่วนตลาดของขวัญร้อยละ 7.83 นอกจากนี้ ยังมีของขวัญประเภทของเล่น/เกมส์ ครองสัดส่วนร้อยละ 5.42 งานฝีมือ/งานหัตถกรรม ครองสัดส่วนร้อยละ 5.02 กีฬาและสันทนาการ ครองสัดส่วนร้อยละ 2.63 เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ครองสัดส่วนร้อยละ 1.25 และเครื่องเขียน ครองสัดส่วนร้อยละ 0.74 ตามลำดับ
ที่มา : www.chinabaogao.com
ช่องทางการจำหน่ายของขวัญ
การจำหน่ายของขวัญของจีนมีหลากหลายช่องทาง มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยช่องทางออฟไลน์ยังคงเป็นช่องทางหลักของการจำหน่ายของขวัญของจีน ทั้งรูปแบบ B2C (ผู้ผลิต – ผู้บริโภค) และ B2B2C (ผู้ผลิต – ผู้จัดจำหน่าย – ผู้บริโภค) ผ่านทางห้างสรรพสินค้า ร้านกิ๊ฟช้อป ร้านค้าทั่วไป ฯลฯ อย่างไรก็ดี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทำให้การจำหน่ายของขวัญทางช่องทางออนไลน์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 พบว่ามีการซื้อขายของขวัญผ่านช่องทาง อีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าเกือบ 600,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 37 ของยอดขายของขวัญรวม
การกระจุกตัวของอุตสาหกรรม
ตลาดของขวัญมีมูลค่าขนาดใหญ่ การแข่งขันมีความรุนแรง ผู้เล่นในตลาดมีจำนวนมาก ตลาดมีความกระจัดกระจาย ความกระจุกตัวของตลาดค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยพบว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมของขวัญจีนมีอัตราส่วนการกระจุกตัว (Four-Firm Concentration Ratio: CR4) เพียงร้อยละ 3.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 จากปีก่อน
คาดการณ์แนวโน้มการพัฒนาตลาดของขวัญจีน
1. การสนับสนุนจากภาครัฐ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ของจีน (พ.ศ. 2564 – 2568) มณฑลส่วนใหญ่ของจีนได้มีการวางเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของขวัญ อาทิ มณฑลเจ้อเจียง สนับสนุนให้บริษัทและองค์กรการออกแบบ ทำการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น งานหัตถกรรมมีความประณีต ผลักดันยอดขายสินค้าขึ้นชื่อท้องถิ่น อาทิ ของที่ระลึก ของขวัญ และผลิตภัณฑ์เชิงท่องเที่ยว เป็นต้น อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม สำหรับมณฑลเฮยหลงเจียง เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มรดกเชิงวัฒนธรรม อาทิ ภาพวาดหนังปลา มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมใหม่ สร้างแบรนด์หัตถกรรมไฮเอนด์ เป็นต้น ส่วน มณฑลเหอหนาน มุ่งเน้นไปที่เครื่องเคลือบดินเผา งานศิลปะและงานฝีมือ เร่งพัฒนาการผลิต เทคโนโลยี วัสดุใหม่ อุปกรณ์ใหม่ และสร้างแบรนด์ของขวัญงานฝีมือไฮเอนด์ เป็นต้น
ภาพวาดหนังปลา/แกะสลักหนังปลา
ที่มา : image.baidu.com
2. การออกแบบมีความหลากหลาย มีทิศทางการพัฒนาเป็นไฮเอนด์ (High-end) แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมค้าปลีกของขวัญของจีนในอนาคต มีแนวโน้มที่หลากหลายขึ้น มีทิศทางการพัฒนาให้มีความเป็นไฮเอนด์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีดีไซน์ที่มีสีสันหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะช่วยผลักดันการพัฒนาของตลาดของขวัญระดับไฮเอนด์ให้เติบโตมากขึ้น
3. ขยายธุรกิจบนช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น สืบเนื่องจากกระแสอีคอมเมิร์ซปัจจุบัน ทำให้อุตสาหกรรมของขวัญเริ่มพัฒนาธุรกิจบนเส้นทางอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในมหานครขนาดใหญ่อย่างเช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น พบว่ามีผู้ใช้อีคอมเมิร์ซกว่าร้อยละ 70 เลือกซื้อของขวัญทางออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค โดยบริษัท iiMedia Research (บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดที่มีชื่อของจีน) พบว่า มีผู้บริโภคร้อยละ 73.2 เลือกซื้อของขวัญทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป ผู้บริโภคร้อยละ 61.9 เลือกซื้อของขวัญจากหน้าร้าน ร้านค้า ร้านกิ๊ฟช้อป และผู้บริโภคร้อยละ 39.0 เลือกซื้อของขวัญทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของขวัญโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซในอุตสาหกรรมของขวัญกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ธรรมเนียมการให้ของขวัญของจีน ทำให้ตลาดของขวัญมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีเติบโตในทิศทางที่ดี ตลาดของขวัญจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจะมีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการพิจารณานำสินค้าไทยคุณภาพมานำเสนอให้เป็นอีกตัวเลือกของขวัญสำหรับชาวจีน ในการส่งของขวัญเนื่องในโอกาสพิเศษ หรือเทศกาลต่างๆ ให้กับคนในครอบครัว คนรัก ผู้ใหญ่ที่เคารพ เป็นต้น อาทิ เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ข้าวหอมมะลิ ผลไม้สด และผลไม้แปรรูปต่างๆ ก็เป็นอีกสินค้าคุณภาพของไทยที่สามารถนำมาปรับบรรจุภัณฑ์ให้มีลูกเล่น รูปลักษณ์ที่สวยงาม มีความทันสมัยเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีน ซึ่งสามารถนำไปมอบเป็นของขวัญได้ในโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ หมอนและที่นอนยางพารา ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ทำจากพืช ก็สามารถนำไปมอบเป็นของขวัญให้แก่คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก เพื่อช่วยบำบัดความเครียด ความกดดันจากการทำงาน หรือแก้ปัญหาการนอนไม่หลับในกลุ่มผู้บริโภควัยทำงาน/วัยเรียนได้เป็นอย่างดี รวมถึงงานหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย/งานฝีมือประยุกต์ ที่ไทยมีฝีมือไม่น้อยหน้าใครในโลกด้วย ประกอบกับปัจจุบันการค้าขายในจีนมีช่องทางการค้าที่หลากหลายทั้งรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีช่องทางการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ที่เป็นอีกช่องทางที่ช่วยสนับสนุนให้การขยายตลาดส่งออกมายังประเทศจีนในปัจจุบันมีความสะดวก และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาการร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น (KOL) ในการประชาสัมพันธ์สินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังของจีน ให้เกิดการรับรู้แบรนด์และความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น และยังเป็นอีกช่องทางในการเจาะตลาดผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มและรวดเร็วอีกด้วย
**********************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
https://www.chinabaogao.com/market/202311/672169.html
https://www.chinairn.com/hyzx/20230704/142529405.shtml
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1766850299591314666&wfr=spider&for=pc
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)