หน้าแรกTrade insight > อัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย สินค้าอุปโภคบริโภคในฝรั่งเศสอย่างไร

อัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย สินค้าอุปโภคบริโภคในฝรั่งเศสอย่างไร

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส

วันที่ 30 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2566

 

ในปัจจุบันผู้บริโภคฝรั่งเศสคำนึงถึงยอดใช้จ่ายตลอดจนการบริโภคโดยไม่ให้มีของเหลือทิ้งมากขึ้น

 

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อพฤติกรรมผู้บริโภค จากการสำรวจโดย OpinionWay ตามคำขอของบริษัทออกแบบและสร้างแบรนด์ Team Creatif พบว่าชาวฝรั่งเศสร้อยละ 70 มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสามปีให้หลัง โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มเจเนอเรชั่น x (อายุ 40-59 ปี) ในขณะที่ผู้บริโภคในกลุ่ม Baby Boomer (60 ปีขึ้นไป) ยังคงพฤติกรรมการบริโภคเดิม

 

อย่างไรก็ดีผู้บริโภคฝรั่งเศสโดยทั่วไปที่ร่วมการสำรวจยังคงต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยอมรับว่าสามารถกระทำได้ยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าทั่วไปต่างปรับสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่ได้ปรับสูงขึ้นตาม จึงทำให้มีกำลังซื้อน้อยลง ปัจจัยด้านราคาจึงมีความสำคัญมากขึ้นในการจับจ่ายสินค้า ทำให้ป้จจัยด้านอื่น ๆ ได้แก่ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการผลิตสินค้า สวัสดิภาพของผู้ผลิต แรงงาน และปศุสัตว์ ที่มาของสินค้าและองค์ประกอบทางโภชนาการ ได้รับการคำนึงถึงน้อยลงกว่าเดิม

 

 

 

นอกจากนี้ผู้บริโภคยังพฤติกรรมที่จะลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลง และยังพยายามติดตามหาช่องทางการซื้อสินค้าที่จะช่วยให้ประหยัดเงินได้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในช่วงหลังมีวีดิโอใน TikTok และ Instagram เป็นจำนวนมากที่ชี้ช่องทางที่น่าสนใจในการจับจ่ายให้กับผู้ชม ตลอดจนแนะนำวิธีการจัดการบริหารเงินในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งวีดิโอดังกล่าวมียอดชมเป็นจำนวนมาก

 

ผู้บริโภคบางส่วนก็ให้ความสนใจกับวันหมดอายุของสินค้าในกลุ่มอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากจะได้เก็บสินค้าดังกล่าวไว้บริโภคภายหลังได้นานขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง หรือไม่ก็ซื้อสินค้าอาหารสดที่ใกล้วันหมดอายุวันต่อวัน และมีผู้บริโภคที่แม้กระทั้งบริโภคสินค้าอาหารที่วันหมดอายุเลยมาแล้วสองสามวัน เนื่องจากมองว่าวันหมดอายุบนฉลากถูกกำหนดโดยไม่สอดคล้องกับวันอายุที่แท้จริงของอาหารดังกล่าว

 

วิธีการแนะนำสินค้าแบบปากต่อปากในหมู่ผู้บริโภคก็เป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงหลัง ตลอดไปจนถึงการอ่านบรรจุภัณฑ์
การหาข้อมูลด้านโภชนาการของสินค้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์ที่ไม่ได้จัดทำโดยผู้ผลิตสินค้านั้น ๆ เพื่อสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อสินค้าได้โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลด้านการตลาดและโฆษณาของผู้ผลิตสินค้า

 

อย่างไรก็ดีสินค้าอาหารที่ผลิตนอกระบบอุตสาหกรรม ภายในประเทศฝรั่งเศส ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากแม้ว่าราคาของสินค้าจะสูงกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาดถึงร้อยละ 9 สำหรับสินค้าอาหารออร์แกนิคที่ในปัจจุบันราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปร้อยละ 6 กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าแต่ก่อน เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแหล่งสินค้าที่มาจากภายในประเทศ และสินค้านอกระบบอุตสาหกรรมมากกว่า

 

นอกจากนี้ยังประเด็นด้านบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารที่ OpinionWay ค้นพบจากการสำรวจ ได้แก่ ชาวฝรั่งเศสร้อยละ 88 ยินดีที่จะกลับมาใช้ระบบคืนขวดแก้วเปล่า ร้อยละ 42 พร้อมที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่จะสร้างขยะน้อยลง แม้ว่าจะทำให้ขนสินค้าลำบากมากขึ้น และร้อยละ 38 เห็นด้วยกับสินค้าที่ลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์เดิมกลับมาเติมผลิตภัณฑ์ได้ (เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซอส และเครื่องปรุงต่าง ๆ)

 

ความเห็น สคต.

พฤติกรรมที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจประเด็นด้านราคาอย่างมากนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาราคาซื้อขายระหว่างผู้ผลิตสินค้าไทยและผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าฝรั่งเศส ในช่วงสองสามปีที่จะมาถึงนี้ ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องพึงระวังและพยายามรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ให้ได้มาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าฝรั่งเศส จะหันไปหาแหล่งสินค้าที่ราคาถูกกว่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนถึงคิดค้นพัฒนาสินค้าใหม่จะสามารถดึงดูดผู้บริโภคให้รู้สึกว่าคุ้มค่ากับที่จะต้องจ่ายเงิน พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอย่างโปร่งใสด้วย

 

แหล่งอ้างอิง

ข่าวออนไลน์จากหนังสือพิมพ์ Les Echos

https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/ce-que-linflation-a-change-dans-le-chariot-des-francais-2025990

 

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login