ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มวัยรุ่น Gen Z (กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2538-2552) ในอิตาลีได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยกลุ่มวัยรุ่นจะพิจารณาและให้ความสำคัญต่ออาหารที่มีความเรียบง่ายและมีความเป็นอิตาเลียน อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยวิธีที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อสุขภาพและร่างกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นลักษณะสำคัญที่วัยรุ่นกำลังมองหาในอาหารและระบบอาหารในยุคปัจจุบัน จากข้อมูลการวิจัยที่จัดทำโดย Ipsos (Institut Public de Sondage d’Opinion Secteur) หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญการสำรวจด้านการตลาดและให้คำปรึกษา ให้แก่ Cirfood district (บริษัทดูแลด้านการบริการด้านอาหารของบริษัทต่าง ๆ และสวัสดิการพนักงาน) โดยเป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นชายและวันรุ่นหญิงที่มีอายุระหว่าง 16 ปี ถึง 26 ปี จากทั่วอิตาลี โดยการสำรวจความคิดเห็นผ่านการตอบแบบสอบถามทางอินเตอร์เน็ต ภายใต้ภาพรวมของพฤติกรรมการบริโภคและความสัมพันธ์/เกี่ยวข้องกับอาหาร
โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจตัวอย่างความคิดเห็นของวัยรุ่น Gen Z ในอิตาลี จำนวน 500 คน แบ่งเป็น วัยรุ่นหญิง คิดเป็นสัดส่วน 52% และวัยรุ่นชาย คิดเป็นสัดส่วน 48% ช่วงอายุระหว่าง 16-20 ปี คิดเป็นสัดส่วน 46% ช่วงอายุระหว่าง 21-26 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54% การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง คิดเป็นสัดส่วน 60% ระดับมหาวิทยาลัย คิดเป็นสัดส่วน 32% และระดับมัธยมปลาย-ต้น คิดเป็นสัดส่วน 7% อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด อยู่ที่ 28% อาศัยอยู่ทางตอนกลางของอิตาลี คิดเป็นสัดส่วน 27% โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 1 แสนคนขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 27%
โดยผลการสำรวจพฤติกรรมนี้จะเน้นในส่วนของวัยรุ่น Gen Z ในการค้นหาโมเดลการบริโภคอาหารอย่างต่อเนื่อง ที่ช่วยให้วัยรุ่นดังกล่าวรักษาสมดุลด้านสุขภาพ โภชนาการ และความพึงพอใจต่อตนเองและร่างกายได้ ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่า 73% ของกลุ่มวัยรุ่น พอใจกับน้ำหนักของตนเอง และ 67% ของกลุ่มวัยรุ่นพอใจกับรูปร่างของตนเอง อันเนื่องมาจากการเล่นกิจกรรมกีฬาและโภชนาการที่มีความเหมาะสม โดยการวิจัยดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงพฤติกรรมว่าคนหนุ่มสาวมีความตระหนักถึงความสำคัญของรูปแบบการบริโภคและการเล่นกีฬาที่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น ซึ่งพบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นที่ประสบปัญหาความยากลำบากในการรักษาสมดุลระหว่างโภชนาการและสุขภาพ โดย 27% ของคนกลุ่มวัยรุ่น มีความเห็นว่าการรักษาความสมดุลค่อนข้างยาก และสำหรับ 44% ของกลุ่มวัยรุ่น มีความเห็นว่าการรักษาความสมดุลค่อนข้างซับซ้อนเป็นบางครั้ง นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า วัยรุ่น Gen Z 36 % มีความต้องการอาหารที่มีความเรียบง่าย โดยไม่มีสูตรหรือส่วนผสมที่ซับซ้อน 24% ต้องการเรียนรู้สูตรอาหารใหม่ ส่วนผสมและวัฒนธรรมใหม่ สำหรับมุมมองด้านคุณภาพอาหารของวัยรุ่น Gen Z พบว่า 38% มีความต้องการผลิตภัณฑ์ Made In Italy 27% ต้องการอาหารที่ยั่งยืน 27% ต้องการอาหารที่มีกระบวนการผลิตโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมน และ 26% ต้องการอาหารที่มาจากฟาร์มที่ดูแลและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 91% เห็นด้วยกับความจำเป็นในการคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีการผลิตและการบริโภคอาหาร โดยเน้นให้ความสำคัญกับระบบอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น หลีกเลี่ยงวิธีต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับประเภทอาหารที่วัยรุ่น Gen Z ต้องการบริโภคอย่างขาดไม่ได้ ได้แก่ พิซซ่า (50%) พาสต้า (42%) ผลไม้สด (42%) มันฝรั่ง (41%) เนื้อสัตว์สีขาว (39%) ไข่ (38%) ขนมปังสด (38%) ข้าวและธัญพืช (38%) และนม (37%) ในส่วนของเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า (59%) น้ำผลไม้ (40%) และกาแฟ (38%) โดยร้านอาหาร 5 อันดับแรก ที่วัยรุ่น Gen Z จะต้องเลือกรับประทานนอกบ้านอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ ได้แก่ อันดับ 1 ร้านอาหารอิตาเลียน (สัดส่วน 22%) อันดับ 2 ฟาสต์ฟู้ด (สัดส่วน 19%) อันดับ 3 ร้านเบียร์ (สัดส่วน 13%) อันดับ 4 ร้านอาหารญี่ปุ่น (สัดส่วน 11%) และอันดับ 5 ร้านเคบับ (สัดส่วน 10%) โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่วัยรุ่น Gen Z เลือกรับประทานอาหารนอกบ้าน ได้แก่ เพื่อพบปะเพื่อนฟูง (34%) เพื่อรับประทานอาหารที่แตกต่างจากที่รับประทานอยู่เป็นประจำ (31%) และเพื่อใช้เวลาอยู่กับคนสำคัญ (26%)
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. เป็นที่ทราบกันดีว่าอิตาลีเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในด้านอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก ปัจจุบันการที่ผู้บริโภคในอิตาลีรวมถึงวัยรุ่น Gen Z เข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคใหม่ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งส่งผลให้ความต้องการอาหารที่ยั่งยืนในตลาดเพิ่มขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวอาจจะส่งผลไปยังประเทศคู่ค้าในภาคอุตสาหกรรมอาหารกับอิตาลีไม่มากก็น้อย โดยสหภาพยุโรปเองก็ได้มีการกำหนดนโยบาย European Green Deal ที่ต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจยุโรปไปสู่ทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืนและเป็นธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสังคม เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ระบบการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น โดยในอนาคตคาดว่าความต้องการและอุปทานอาหารที่ยั่งยืนในตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น
2. จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภควัยรุ่น Gen Z ในอิตาลีพบว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ได้จำกัดกลุ่มอายุอีกต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพและลดการก่อปัญหาที่จะส่งผลต่อระบบอาหารในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่วัยรุ่น Gen Z ในอิตาลีตระหนักต่อการรักษาสมดุลด้านสุขภาพ โภชนาการ และความพึงพอใจต่อตนเองและร่างกายเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 วัยรุ่น Gen Z ในอิตาลี มีจำนวน 6,431,552 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.92% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอิตาลี ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยและร้านอาหารไทยต้องการเจาะตลาดกลุ่ม Gen Z ในอิตาลีควรติดตาม/ศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเป็นการรักษา/ขยายส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าอาหารไทยในอิตาลีเพิ่มขึ้น
ที่มา: Food Affairs, https://osservatorio.cirfood-district.com/it/il-cibo-per-la-gen-z-priorit%C3%A0-ad-alimenti-italiani-sostenibili-e-che-rispettano-la-biodiversit%C3%A0
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)