หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > 2024 เศรษฐกิจของเยอรมนีน่าจะพอลืมตาอ้าปากได้

2024 เศรษฐกิจของเยอรมนีน่าจะพอลืมตาอ้าปากได้

รัฐบาลเยอรมันได้ออกมาประเมินการขยายตัวของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ใหม่ ภายหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 6% และของปีหน้า (2024) น่าจะอยู่ที่ 2.6% ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกที่หนังสือพิมพ์ Handelsballt ได้รับมา พบว่า สาเหตุหลังที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของเยอรมันคงที่และมีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากการที่ราคาพลังงานเริ่มกลับมาคงที่อีกครั้ง (แม้จะค่อนข้างมีราคาสูงอยู่) ในขณะเดียวกันการขยายตัวของอัตราค่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งในการประเมินการครั้งนี้ รัฐบาลเยอรมันคาดการณ์ว่า GDP ของปี 2023 น่าจะอยู่ที่ -0.4% (ในช่วงต้นปีนี้ เคยคาดการณ์ว่าอาจอยู่ +0.4%) เพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 แย่กว่าที่คาดไว้ทำให้ต้องลดค่าประมาณการณ์ลง

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เยอรมนีกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ คือ (1) ราคาพลังงานที่ส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง (2) อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และ (3) การส่งออกของเยอรมนีประสบปัญหาหนัก เพราะตลาดทั่วโลกไม่ได้ขยายตัวตามที่คาดหมาย (โดยเฉพาะตลาดจีน) ซึ่งรัฐบาลเยอรมันคาดการณ์ว่า GDP ปี 2024 น่าจะอยู่ที่ 1.5%” โดยนาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สภาวะอากาศสังกัดพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ได้ออกมาแถลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสัญญานที่ดี เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) พบว่า ยอดการสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็น Intermediate Goods (สินค้าที่นำไปประกอบ หรือเป็นชิ้นส่วนเพื่อผลิต สินค้าสำเร็จรูปอีก) ในเดือนกรกฎาคมลดลง แต่กลับมาปรับตัวดีขึ้นในเดือนสิงหาคมและมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 3.9% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี กระทรวงเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า “ในที่สุดภาคอุตสาหกรรมก็สามารถเบรกการลดลงของปริมาณการสั่งซื้อสินค้าได้แล้ว”

แม้อัตราดอกเบี้ยและค่าพลังงานที่สูงจะเป็นตัวการหลักที่ทำให้การบริโภคภายในประเทศไม่ขยายตัวเท่าที่ควรจะเป็น แต่กลับพบว่า ยอดการสั่งซื้อสินค้าในเดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น4.0% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ ความต้องการจากต่างประเทศขยายตัว 3.9% ซึ่งเท่ากับการขยายตัวจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) ปัญหาหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ที่ (1) การบริโภคของผู้บริโภคลดลง และ (2) สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทำให้อัตราการออมสูงเป็นพิเศษ ซึ่งจะกระทบกับพฤติกรรมการบริโภค ที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยต่ำที่สุด ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และจากข้อมูลของสมาคมเพื่อการวิจัยผู้บริโภค (GfK – Gesellschaft für Konsumforschung) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้บริโภคเดือนตุลาคมลดลง 0.9 จุด มาอยู่ที่ 26.5 จุด ด้านนาย Rolf Bürkl ผู้เชี่ยวชาญของ GfK กล่าวว่า “โอกาสที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะสามารถฟื้นตัวได้ในปีนี้อาจลดลงเหลือศูนย์” และนาย Bürkl ก็ยังได้กล่าวอีกว่า “แนวโน้มการออมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคลดลงอีกครั้ง”

272

ตลาดแรงงานขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนาย Vorstand Daniel จากสำนักงานจัดหางานของรัฐบาลกลางเยอรมนี (BA – Bundesagentur für Arbeit) เปิดเผยว่า “เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า การจ้างงานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงมีสถิติไม่สูงเท่าที่คาดการณ์ไว้” โดย BA ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในเดือนกันยายนมีผู้ว่างงาน 2.627 ล้านคน หรือลดลงจากเดือนสิงหาคม 69,000 คน แต่ก็ยังมากกว่าจำนวนผู้ว่างงานในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 141,000 คน อัตราการว่างงานลดลง 0.1 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 5.7 จุด โดยหลักการแล้วตลาดแรงงานยังคงมีเสถียรภาพอยู่ นาย Terzenbach กล่าวอธิบายว่า “แม้ว่าอัตราการว่างงาน และอัตราผู้ประกอบอาชีพ จะต่ำกว่าปกติ แต่ก็ยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของเดือนกันยายนโดยทั่วไป”

ที่มา :

Handelsblatt 27 ตุลาคม 2566

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login