หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > CJ และShinsegae บริษัทอาหารรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ศึกษาอาหารของวัดเกาหลีเพื่อขยายสินค้าเมนูอาหารมังสวิรัติ

CJ และShinsegae บริษัทอาหารรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ศึกษาอาหารของวัดเกาหลีเพื่อขยายสินค้าเมนูอาหารมังสวิรัติ

(ที่มา : สำนักข่าว The Korea times ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2566)

อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทอาหาร ท่ามกลางความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการกินอาหารมังสวิรัติและอาหาร plant-based บริษัท CJ และShinsegae รวมถึงบริษัทอาหารอื่นๆในเกาหลีใต้ กำลังเร่งศึกษาอาหารที่ทำจากผักหลากหลายชนิดที่เสิร์ฟในวัดทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาชุดผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติ

บริษัท CJ CheilJedang บริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้เพิ่งลงนามในความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเปิดตัวอาหารวัดที่พัฒนาร่วมกันกับ Doban HC ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ดำเนินงานของนิกาย Jogye ซึ่งเป็นนิกายของศาสนาพุทธในเกาหลี

บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เกี๊ยวสไตล์วัดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มีการใช้เครื่องปรุงจากธรรมชาติและผักอื่นๆ ยกเว้นสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ซึ่งเป็นข้อห้ามในศาสนาพุทธของเกาหลีใต้ ได้แก่ กระเทียม ต้นหอม ต้นหอม กุยช่าย และกุ้ยช่ายป่า

สินค้าดังกล่าวมีจำหน่ายผ่านตลาดขายของชำออนไลน์ที่ชื่อว่า Seungso Mall เท่านั้น ซึ่งช่องทางซื้อสินค้าสำหรับพระสงฆ์และชาวพุทธในตอนนี้ แต่บริษัทได้มีแผนที่จะขายอาหารที่เหลือจากวัด เช่น โจ๊กและเนื้อถั่วเหลือง ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแยกต่างหากสำหรับผู้บริโภครายอื่น ซึ่งกำลังจะก่อตั้งแพลทฟอร์มดังกล่าวเร็วๆนี้

เจ้าหน้าที่จากบริษัทอาหารกล่าวว่า “อาหารของวัดเกาหลีมีศักยภาพสูงในการแสดงเอกลักษณ์ว่าเป็นอาหารมังสวิรัติและอาหารเพื่อสุขภาพ บริษัทอาหารท้องถิ่นจึงได้แนะนำอาหารวัดในรูปแบบของอาหาร plant-basedที่พวกเขาได้มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้”

Shinsegae Food ซึ่งกำลังขยายธุรกิจเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ทางเลือก ได้มีการแนะนำอาหารวัดสำหรับสามเณรในวันที่ 15 พฤษภาคม บริษัทนำเสนอเนื้อสัตว์ plant-based ซึ่งมีชื่อว่า Better Meat เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทได้พัฒนาขึ้นมาเองสำหรับสามเณรที่จำเป็นต้องละเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ บริษัทอาหารยังเสนอรายการเมนูอาหารมังสวิรัติมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งไม่ใช้เนย นม หรือไข่ โดยร่วมมือกับคุณพัค ซองฮี ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของวัด

บริษัทอาหารในเกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะขายอาหารวัดในเชิงพาณิชย์ เพราะพวกเขาเชื่อว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้ง ความต้องการบริโภคเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ทำให้อาหารวัดได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารรูปแบบใหม่ของ K-foods ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า กระแสอาหารมังสวิรัติหรืออาหาร plant-based กำลังได้รับความนิยมในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทอาหารของเกาหลีใต้หลายแห่ง ได้พยายามคิดค้นเมนูใหม่ๆที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติที่ได้แนวคิดมาจากอาหารวัดของเกาหลี นับว่าเป็นเมนูที่แปลกใหม่ น่าสนใจ อีกทั้งยังได้นำเสนอวัฒนธรรมทางศาสนาผ่านเมนูอาหาร

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็มีจุดขายเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือการเป็นเมืองพุทธ และมีเทศกาลกินเจที่มีชื่อเสียง หากผู้ผลิตอาหารมังสวิรัติหรืออาหาร plant-based ของไทย นำเมนูอาหารไทยที่เป็นอาหารเจหรืออาหารมังสวิรัติมาพัฒนา และผลิตเป็นสินค้าส่งออก คาดว่าจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าวัตถุดิบอาหาร และช่วยกระตุ้นรายได้ของเกษตรกร รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศอีกด้วย

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล

Login