หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อาหารเพื่อสุขภาพถือเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนอาหารทั่วไป แต่มีความแตกต่างด้านวัตถุดิบหลักที่มาจากสัตว์และพืชธรรมชาติ ซึ่งถูกนำมาผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีส่วนผสมที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยปรับสมดุลการทำงานของร่างกายมนุษย์ รวมทั้งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการอาหารพิเศษเฉพาะ โดยแนวคิดอาหารเพื่อสุขภาพเกิดขึ้นจากแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่มีวัตถุประสงค์ในการกินดื่มให้เป็นการปกป้องรักษาสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอนาคต ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานี้ แนวคิดอาหารเพื่อสุขภาพก็ได้แพร่กระจายมาสู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงจีน ทำให้ชาวเอเชียตระหนักว่าการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพถือเป็นหลักประกันพื้นฐานของสุขภาพ

ปัจจุบันแนวคิดอาหารมื้อเบา อาหารน้ำตาลต่ำ และอาหารไม่ใส่สารเติมแต่ง เป็นแนวคิดใหม่ที่กำลังเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารว่าง ซึ่งผู้ประกอบการบางรายของจีนก็เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตลาด จึงได้ศึกษาและสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและนิสัยการกิน ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะคว้าโอกาสในเส้นทางอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น

ความต้องการสุขภาพ ความงาม และการดูแลตนเองของคนหนุ่มสาว กระตุ้นให้อาหารเพื่อสุขภาพ อาหาร 0 แคลอรี อาหารน้ำตาลต่ำ หรืออาหารปราศจากน้ำตาลเป็นที่นิยมมากขึ้นและผลักดันให้ความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และยังขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดการบริโภคเพื่อสุขภาพให้ขยายตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนจะมีมูลค่า 1.14 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.70 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพมีขนาดใหญ่ โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำประกอบด้วย การผลิตวัตถุดิบและอุตสาหกรรมแปรรูป การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สารสกัดจากพืช เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมกลางน้ำครอบคลุม การพัฒนา การผลิต การดำเนินงานและการตลาด เป็นต้น และอุตสาหกรรมปลายน้ำคือผู้บริโภค ร้านขายยา อีคอมเมิร์ซ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านแม่และเด็ก เป็นต้น

อาหารว่างเพื่อสุขภาพ มีหลักการง่ายคือ “เพิ่ม 1 ลด 1” ซึ่งหมายถึง การเพิ่มโปรตีนและไฟเบอร์ และลดน้ำตาลกับไขมัน ในขณะเดียวกัน วัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่จะใช้ข้าวโอ๊ต เบอร์รี บีทรูท ขมิ้นขาว ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น ขณะที่ด้านเทคโนโลยีจะใช้กรรมวิธีการอบอุณหภูมิต่ำ ฟรีซดราย เป็นต้น และยังต้องเพิ่มองค์ประกอบอื่น เช่น วิตามิน สังกะสี ซิลีเนียม และโพรไบโอติก เป็นต้น โดยความต้องการด้านสุขภาพและความงามของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันได้กระตุ้นให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาพ อาหาร Functional Food โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติจะพบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 – 2020 อาหาร Functional Food ครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.5 ในปี ค.ศ. 2012 ขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 22.6 ในปี ค.ศ. 2020 ขณะที่เมื่อพิจารณาอาหาร Functional Food ในต่างประเทศ พบว่าสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีการพัฒนาก่อนจีนมานานกว่า 10 ปี โดยในปี ค.ศ. 2015 อาหาร Functional Food ของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.0 และร้อยละ 24.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าในปี ค.ศ. 2025 สัดส่วนของอาหาร Functional Food ของจีนจะขยับเป็นร้อยละ 24 และคาดว่าจะมีมูลค่า 273,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ โครงร่างแผนสุขภาพของจีนปี ค.ศ. 2030 หรือ Healthy China 2030 ของจีน ได้เสนอการยกระดับสุขภาพของประชาชน บูรณาการสุขภาพ และรับประกันสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร และปรับปรุงความเป็นธรรมด้านสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนวุ่นวาย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง ซึ่งภายใต้นโยบายการผลักดันสุขภาพของรัฐบาล ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีนมีโอกาสที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น

ในปี ค.ศ. 2015 ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนมีมูลค่าถึง 650,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.25 ล้านล้านบาท และในปี ค.ศ. 2020 มีมูลค่าทะลุ 800,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.00 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนจะมีมูลค่าประมาณ 1.14 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.70 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดทวีความรุนแรงมากขึ้น และตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนก็ทยายตัวสูงขึ้นทุกปี และกำลังกลายเป็นตลาดอาหารเพื่อสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย

ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากระดับคุณภาพชีวิตที่ก้าวหน้าขึ้น และความตระหนักในสุขภาพของประชาชนที่แข็งแกร่ง ทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นแนวโน้มใหม่ของการบริโภคเพื่อสุขภาพในประเทศจีน โดยตั้งแต่จีนเปิดประเทศ อุตสาหกรรมอาหารของจีนก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงเท่านั้นโครงสร้างอุตสาหกรรมและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก็ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ความปลอดภัยด้านอาหารและระดับโภชนาการได้รับการยกระดับ ทำให้สถานะของอุตสาหกรรมอาหารในจีนสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนก็ยิ่งทำให้การบริโภคอาหารของชาวเมืองและชาวชนบทมีแนวโน้มเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากการกินอิ่มเป็นการกินให้ดี กินให้ปลอดภัย และกินให้ได้สุขภาพ ทำให้อาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีและอายุที่ยืนยาวของประชาชน

สำหรับแนวโน้มของอาหารเพื่อสุขภาพในอนาคต สามารถสรุปได้ดังนี้

1) ความสมดุลใหม่ของสุขภาพ การบริโภคอาหารน้ำตาลต่ำ อาหารที่ปราศจากไขมันจะกลายเป็นแนวโน้มใหม่ของการเติบโตของการบริโภคอาหาร ในขณะเดียวกันอาหารว่างที่ถือว่าเป็นอาหารมื้อที่ 4 หรืออาหารทดแทนมื้ออาหารจะมีแนวโน้มการพัฒนาไปในทิศทางที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น มีความเป็นไฮเอนด์ และมีความเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

2) มีการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เนื่องจากอาหารเพื่อสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการจะกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่ได้รับความสำคัญและได้รับการพัฒนาในตลาดอาหารเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

3) มีการวิจัยเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นระบบมากขึ้น

4) ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญต่ออาหารเพื่อสุขภาพ และมีคุณภาพมากขึ้น ขณะที่การแปรรูปอาหารจะก้าวไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

5) ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น โรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร และโภชนาการ เป็นต้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

นับวันผู้บริโภคต่างหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพ โดยพยายามลดผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารทอดด้วยน้ำมัน และหันมาสนใจอาหารที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ เนื้อเทียม เครื่องดื่มประเภทถั่ว ธัญพืชมากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มจากพืชธรรมชาติที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ระดับรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรเน้นการบริโภคเพื่อความอยู่รอด เป็นการบริโภคเพื่อสุขภาพ และทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่เพียงแต่แสวงหาความสมดุลทางโภชนาการ แต่ยังแสวงหาการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดีควบคู่กันไปด้วย โดยความต้องการด้านสุขภาพและความงามของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันได้กระตุ้นให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารว่างและขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีแคลอรีต่ำ หรือ 0 แคลอรี มีน้ำตาลต่ำ รวมทั้งอาหารที่ปราศจากน้ำตาล ซึ่งทำให้กลุ่มอาหารเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการของผู้บริโภคสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการยังช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่าขนาดตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนในปี ค.ศ. 2025 จะสูงถึง 1.14 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ  5.70 ล้านล้านบาท ทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนนับเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก และมีความสามารถในการผลิตอาหารได้หลากหลายประเภท รวมทั้งสามารถปรับปรุงและพัฒนาสินค้าเกษตรและสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการส่งออกอาหารเพื่อสุขภาพของไทยเข้าสู่ตลาดจีนมีความจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพให้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนให้มากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีหลายกลุ่มและมีความต้องการที่หลากหลาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และโครงสร้างการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของจีนอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยยังต้องพิจารณาใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตอาหารชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของไทยมีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีน และได้รับการรับรองความปลอดภัยตามคุณภาพและมาตรฐานสากล อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และมีโอกาสในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 https://www.chinairn.com/hyzx/20230530/135153825.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ​ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login