ในปัจจุบัน ผลิตภันฑ์ที่ทำมาจากโปรตีนทางเลือก (Meat Alternative) ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดโลกและสหรัฐฯ ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของโปรตีนทางเลือกในตลาดโลกนั้น คาดว่าจะสูงถึง 13,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 และจะโตขึ้นถึง 28.8% ภายใน 10 ปีข้างหน้า สำหรับในตลาดสหรัฐฯ นั้น ในปี 2565 มูลค่าตลาดของโปรตีนทางเลือกมีมูลค่าอยู่ที่ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสัดส่วนถึง 1.4% จากยอดขายสินค้าผลิตภันฑ์อาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของสหรัฐฯ ทั้งนี้ 5 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับตลาดโปรตีนทางเลือกในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน มีดังนี้
- สถิติของผู้บริโภคตลาดโปรตีนทางเลือก
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันเลือกที่จะหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และรับประทานอาหารจากโปรตีนทางเลือกมากยิ่งขึ้น จากสถิติในปี 2565 ประชากรชาวอเมริกันกว่า 6% หรือประมาณ 20 ล้านคนรับประทานมังสวิรัต (Vegetarian) และเจ (Vegan) เป็นประจำ ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน นอกจากนี้ ยังพบว่ผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 11-26 ปี) และMillennials (อายุระหว่าง 27-42 ปี) ในสหรัฐฯ เลือกที่จะรับประทานโปรตีนทางเลือกมากยิ่งขึ้น โดยจากการสำรวจโดย Ypulse เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าผู้บริโภคในกลุ่ม Millennial กว่า 19% และ ในกลุ่ม Gen Z กว่า 12% รับประทานรับประทานมังสวิรัต (Vegetarian) และเจ (Vegan) ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวกว่า 32% ที่ไม่ได้รับประทานมังสวิรัต หรือเจในปัจจุบัน พบว่ามีการแสดงความสนใจที่จะรับประทานโปรตีนทางเลือกมากขึ้นในอนาคต
2. ยอดขายของผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแต่ละชนิด
ในสหรัฐฯ ปัจจุบันนมจากพืชเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยมึสัดส่วนถึง 15% ของยอดขายผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกทั้งหมด โดยในปี 2565 ยอดขายของนมจากพีชในปัจจุบันอยู่ที่ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขายตัวขึ้นกว่า 9% ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า ยอดขายและปริมาณการขายของเนื้อสัตว์จากพืชได้ลดลงในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยอดขายลดลง 1% จากปี 2565 ในขณะที่ปริมาณการขายลดลง 8% อนึ่ง สัดส่วนของยอดขายเนื้อสัตว์จากพืชเทียบกับยอดขายเนื้อสัตว์ทั้งหมดในตลาดสหรัฐฯ ยังคงที่ที่ 2.5% สำหรับผลิตภัณฑ์จากพืชที่ยอดขายและจำนวนขายโตเร็วมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไข่จากพืช มียอดขายรวม 45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โตขึ้นกว่า 14% ในเชิงยอดขาย และกว่า 21% ในเชิงปริมาณ ซึ่งนับว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2565
- นมอัลมอนด์ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มสินค้านมจากพืช
นมจากพืช นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มสินค้าโปรตีนทางเลือก สำหรับในสหรัฐฯ พบว่านมที่ผลิตจากอัลมอนด์ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ โดยจากการสำรวจของ Morning Consult บริษัทให้คำปรึกษาด้านการตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งสำรวจผู้บริโภคชาวอเมริกัน 1,328 คนซึ่งได้เคยทดลองนมจากพืช ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่าชาวผู้บริโภคกว่า 70% ชื่นชอบนมจากอัลมอนด์มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นมข้าวโอ๊ต (31%) นมมะพร้าว (23%) นมถั่วเหลือง (22%) นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (11%) นมเฮเซลนัท (8%) และนมข้าว (11%) ทั้งนี้ พบว่าจะบริโภคนมจากพืชพร้อมซีเรียลมากที่สุด (40%) บริโภคเปล่าๆ (32%) ใช้ทำกับข้าว (28%) ใช้ดื่มกับกาแฟ (24%) ใช้ในการทำขนม (22%) และใช้ผสมกับโปรตีนผง (20%)
4. เนื้อวัวจากพืชสำหรับใส่ในเบอร์เกอร์ได้รับความนิยมมาก
จากการสำรวจโดย The Good Food Institute พบว่าเนื้อวัวจากพืชมียอดขายมากที่สุดในปี 2566 โดยมีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ 32% ตามด้วยเนื้อไก่จากพืช 26% เนื้อหมูจากพืช 24% และซีฟู๊ดจากพืช 1% สำหรับรูปแบบของเนื้อสัตว์จากพีชที่ได้รับความนิยมมากอันดับหนึ่ง ได้แก่ เนื้อสัตว์จากพืชสำหรับใส่ในเบอร์เกอร์ อันดับสอง ได้แก่ ไส้กรอกจากพืช และอันดับสาม ได้แก่ นักเก็ตไก่และปีกไก่จากพืช นอกจากนี้ เนื้อสัตว์จากพืชแบบแช่แข็งมีสัดส่วนมากถึง 63% ของยอดขายเนื้อสัตว์จากพืชทั้งหมด ตามมาด้วยเนื้อสัตว์จากพืชแช่เย็นซึ่งมีสัดส่วนยอดขาย 34% และเนื้อสัตว์จากพืชแบบไม่ต้องแช่แข็ง 3% ปัจจัยที่น่าสังเกตที่อาจมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์แบบแช่แข็งขายดีในช่วงที่ผ่านมาอาจมาจากความกังวลด้านราคาและเศรษฐกิจซึ่งผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์แบบแช่แข็งที่มีราคาต่ำกว่าและอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน
5. องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ อนุมัติให้บริษัทสหรัฐฯ ขายเนื้อไก่เทียม (Lab-grown chicken)
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติการผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่เทียม ซึ่งผลิตจากเซลล์ไก่ในห้องแลป ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับตลาดโปรตีนทางเลือกของสหรัฐฯ แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีเพียงสองบริษัท ได้แก่ Upside Foods และ Good Meat ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก FDA คาดว่าการอนุมัติดังกล่าวจะปูทางให้กับอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกมากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน 100 บริษัททั่วโลก รวมทั้งหลายสิบบริษัทในสหรัฐฯ มุ่งเน้นที่จะผลิตเนื้อสัตว์เทียม ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมดังกล่าวจะอยู่ที่ 247 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะโตขึ้นถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ทั้งนี้ คาดว่าเนื้อไก่เทียมดังกล่าวจะพร้อมขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ ในปีสองปีนี้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีเพียงสหรัฐฯ และสิงคโปร์เท่านั้นที่อนุมัติการผลิตและขายเนื้อไก่เทียมสู่ผู้บริโภค โดยสิงคโปร์ได้อนุมัติการผลิตดังกล่าวเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก
ตลาดโปรตีนทางเลือกเป็นตลาดที่น่าจับตามองในสหรัฐฯ โดยนับว่าเป็นตลาดที่เติบโต และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพร้อมที่จะทดลองสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ การอนุมัติจำหน่ายเนื้อไก่เทียมในสหรัฐฯ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรม หากประสบความสำเร็จ อาจเปิดโอกาสให้กับการผลิตเนื้อสัตว์เทียมอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าศักยภาพในอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก จึงควรที่จะมองหาช่องทางและโอกาสในการเจาะตลาดสหรัฐฯ เช่น ช่องทางออนไลน์ หรือ งานแสดงสินค้า เช่น Plant Based World Expo ซึ่งจะจัดขึ้นที่นิวยอร์กในวันที่ 7-8 กันยายนนี้
New York Times/ Morning Consult/ Good Food Institute/ YPulse/ BBC News
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)