หน้าแรกTrade insight > ความเข้าใจผิดของฉลากอาหาร “Best Before Date” นำไปสู่ปัญหาขยะอาหารในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

ความเข้าใจผิดของฉลากอาหาร “Best Before Date” นำไปสู่ปัญหาขยะอาหารในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566

ความเข้าใจผิดของฉลากอาหาร “Best Before Date” นำไปสู่ปัญหาขยะอาหารในแคนาดา  

ชาวแคนาดาส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฉลากอาหาร “Best Before Date” (BBD) ที่เข้าใจกันว่ามันคือวันหมดอายุ (Expiry Date) ของสินค้า แต่ที่จริงแล้วมันคือการแจ้ง “วันที่ควรบริโภคก่อน” ซึ่ง BBD จะแสดงถึงสถานะวันสุดท้ายของสินค้าว่าจะยังคงมีความสดใหม่ รสชาติดี และยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามวันที่ระบุไว้บนฉลากอาหาร หลังจากวันนั้นไปแล้ว แม้ว่ารสชาติ (ของสินค้า) คุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหารจะลดลง แต่ไม่มีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค ไม่มีอันตราย แต่อาจไม่ได้ประโยชน์จากสารอาหารตามที่ระบุไว้บนฉลาก แต่ในขณะที่วันหมดอายุ (Expiry Date) คือวันที่อาหารนั้นได้หมดอายุ หลังจากวันนั้น ไม่ควรเอาอาหารนั้นมาบริโภค เพราะอาหารนั้นอาจจะเน่าเสียหรือบูดแล้ว ห้ามรับประทานควรทิ้งไปเลย แต่ชาวแคนาดาส่วนใหญ่เข้าใจว่า BBD คือวันหมดอายุของสินค้าจึงไม่บริโภคสินค้าหลังจากวันที่ระบุเป็น BBD ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเพิ่มปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) จำนวนมหาศาลในแคนาดา

ในความเป็นจริงแล้ว สินค้าอาหารที่ผ่านวัน BBD เป็นแค่คุณภาพของอาหารได้ผ่านจุดที่ดีที่สุดของคุณภาพและความสด (Pass the peak freshness and quality) ในขณะที่สินค้าที่ผ่านวันหมดอายุ จะส่งผลให้คุณสมบัติทางโภชนาการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกฎหมายแคนาดากำหนดให้สินค้าอาหารที่จำหน่ายในแคนาดาจะต้องระบุวันหมดอายุ 5 กลุ่มหลัก และไม่แนะนำให้บริโภคหลังผ่านวันหมดอายุ ได้แก่

  • Formulated Liquid Diets: อาหารเหลวที่ใช้ป้อนทางสายยาง
  • Food For Use in Very Low-Energy Diet: อาหารที่จัดเตรียมโดยเภสัชกรที่ใช้กับผู้บริโภค (ผู้ป่วย) ที่ต้องควบคุมการรับพลังงานจากอาหาร
  • Meal Replacements: อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนมื้ออาหาร
  • Nutritional Supplements: ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สำหรับผู้ที่ต้องได้รับสารอาหารหรือพลังงานเพิ่มเติม
  • Human Milk Substitutes (นมผงเด็ก)

Mrs. Lori Nikkel ประธานองค์กร Second Harvest เป็นหน่วยงานการกุศลที่คล้ายกับ Food Bank ธนาคารอาหารที่เปิดรับบริจาคและแจกจ่ายอาหารและของใช้อุปโภคบริโภค ช่วยเหลือผู้ยากจน กล่าวว่าภาครัฐควรออกมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคในแคนาดารู้จักกับความหมายของฉลาก Best Before Date ให้มากขึ้น เพื่อจะช่วยการแก้ปัญหาขยะอาหาร และลดปัญหาการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ที่ทุกวันนี้อาหารส่วนใหญ่ได้ถูกทิ้งลงถังขยะ ในขณะที่อาหารเหล่านั้นยังสามารถนำมาบริโภคได้ โดยมีการประเมินว่าสินค้าอาหารที่ผลิตในแคนาดาประเภทผักผลไม้ อาหาร ของสด กว่าร้อยละ 20 ถูกทิ้งกลายเป็นขยะ โดยหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฉลาก Best Before Date

ถึงแม้ว่าการใช้ฉลาก BBD ไม่ได้มีกฎระเบียบที่กำหนดชัดเจนโดยภาครัฐฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการปฏิบัติแบบสมัครใจ
จากผู้ผลิต (Voluntary Practice) ที่ไม่ได้มีการทดสอบหรือมีผลรองรับทางวิทยศาสตร์ อาทิ สินค้าขนมปังหรือนมสดจะต้องใช้เวลากี่วันถึงจะรองรับได้ว่าจะมีคุณภาพสูงสุดก่อนที่จะเคลมได้ว่าเป็น Best Before โดยหน่วยงาน อย.ของแคนาดาหรือ CFIA (Canadian Food Inspection Agency) กำหนดไว้เพียงคร่าวๆ ว่า BBD สามารถนำมาใช้เพื่อแจ้งวันที่ควรบริโภคก่อน หรือวันสุดท้ายที่สินค้าจะยังคงคุณภาพสูงสุดในเรื่องของความสด (Freshness) รสชาติ (Taste) คุณค่าทางโภชนาการ (Nutritional Value) หรือการเคลมคุณลักษณะอื่นๆ จากผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้จะต้องมีการจัดเก็บตามหลักสุขอนามัย อาทิ การเก็บในพื้นที่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นที่เหมาะสม อาทิ นมสด ที่ต้องเก็บในตู้เย็นที่เหมาะสมระหว่าง 0-4 เซลเซียส หรือผักสดจะต้องจัดเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 3-6 เซลเซียสและมีความชื้น (Humidity Index) ระหว่าง 80-95 ขึ้นกับสินค้า

จากข้อมูล UN Food Waste Index ในปี 2564 ครอบครัวชาวแคนาดาสร้างขยะอาหารเฉลี่ย 79 กิโลกรัม/ครอบครัว/ปี ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ (59 กิโลกรัม) และสหราชอาณาจักร (77 กิโลกรัม) ในขณะที่ประเทศที่มีขยะอาหารจากครัวเรือนน้อยที่สุดในโลก ได้แก่ ประเทศสโลเวเนีย 36 กิโลกรัม และออสเตรีย 39 กิโลกรัม

 

ความเห็นของ สคต.

ในแต่ละปีแคนาดาได้สร้างปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) เฉลี่ย 50 ล้านตันต่อปี มาจากการทิ้งอาหารให้กลายเป็นขยะ ซึ่งในความเป็นจริงอาหารเหล่านั้นยังสามารถบริโภคได้ ไม่ได้เน่าเสียเพียงแค่ผ่านวันที่ Best Before Date (วันที่ควรบริโภคก่อน) เท่านั้น ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของปริมาณขยะอาหารที่มากมายในปัจจุบันมาจากการเข้าใจผิดถึงความหมายของฉลาก Best Before Date ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ามันคือวันหมดอายุของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ทิ้งอาหารเหล่านั้นลงถังขยะหลังจากผ่านวัน Best Before Date ขณะที่สินค้าอาหารเหล่านั้น ยังสามารถรับประทานได้ ไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย แต่คุณภาพสินค้าอาจลดลงในเรื่องความสดใหม่ รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งยังมีความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าเหล่านั้นแม้ว่าผ่านวันที่ควรบริโภคก่อนก็ตาม

หนึ่งในแนวทางที่ภาครัฐและภาคเอกชนแคนาดาใช้ในการแก้ปัญหาขยะอาหาร คือการเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฉลาก Best Before Date ที่จะสามารถลดปัญหาปริมาณขยะอาหาร ลดปัญหาการสูญเสียอาหาร และยังสามารถลดปัญหาปริมาณขยะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login