หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > คลื่นความร้อนนานขึ้นระบบปรับอากาศขายดีในสหรัฐฯ

คลื่นความร้อนนานขึ้นระบบปรับอากาศขายดีในสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: คลื่นความร้อนมีระยะยาวนานขึ้นกว่าเคยในหลายๆ พื้นที่ของสหรัฐฯ เป็นเหตุให้ต้องใช้เครื่องปรับอากาศบ่อยขึ้นและส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งที่ติดกับแปซิฟิกแถบตะวันตกเฉียงเหนือ (แคลิฟอร์เนีย ออริกอน วอชิงตันและรัฐฯอื่นๆ) ที่เครื่องปรับอากาศกำลังขายดีมากในเมื่องใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกและซีแอตเทิล จากสถิติของสำนักสำมะโนประชากรได้บันทึกไว้ National Energy Assistance Directors Association (NEADA) คาดว่าค่าบริการไฟฟ้าต่อครัวเรือนจะพุ่งสูงขึ้นถึง 499 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงหน้าร้อนนี้จากเดิมเพียง 471 ดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนนี้ Environmental Protection Agency ให้ข้อมูลว่าในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา คลื่นความร้อนยืดระยะเวลาออกไปยาวนานขึ้น 49 วันใน 50 เมืองสำคัญๆ โดยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องทำความเย็นเริ่มต้นที่ประมาณ 7,000 ไปจนถึงประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของอาคาร ซึ่งในปี 2020 มีถึงเกือบร้อยละ 90 ของบ้านชาวอเมริกันมีเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในเมืองอย่างซานฟรานซิสโกและในซีแอตเทิลที่มีบ้านที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศอยู่แล้วร้อยละ 45 และ 53 ตามลำดับ และต้นทุนด้านพลังงานของแต่ละครัวเรื่อน โดยเฉลี่ยในช่วงเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคมจะสูงถึง 578 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 11.7 จากเดิม 517 ดอลลาร์สหรัฐในปีก่อนนี้

บทวิเคราะห์: ตลาดระบบ HVAC ในสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 17.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวแบบทบต้นที่ร้อยละ 6.5 ต่อปีนับจากปี 2023 ไปจนถึงปี 2030 ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเร่งการขยายตัวของมูลค่าตลาดนี้ต่อไป ไม่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงได้ ด้วยสภาวะอากาศที่เกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งและมีระยะที่ยาวนานขึ้น การใช้พลังงานก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ผู้ชนะในตลาดนี้ จะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ประหยัดพลังงานได้ดีที่สุด เป็นภัยต่อสภาวะแวดล้อมน้อยที่สุด อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงส่งให้ผู้บริโภคจะมองหาระบบทำความเย็นที่ใช้พลังงานต่ำหรือประเภทพลังงานหมุนเวียนได้มาใช้งานมากขึ้นก็คือนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีไบเดน ตัวอย่างเช่น มีการให้สามารถหักภาษีได้ถึงร้อยละ 20-30 จากต้นทุนในการติดตั้งระบบที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

สัดส่วนของบ้านพักอาศัยในสหรัฐฯ ที่ใช้เครื่องปรับอากาศแบบเฉพาะจุดนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากอาคารบ้านเรือนในเขตร้อนหันมานิยมใช้ระบบปรับอากาศจากส่วนกลางมากขึ้น แต่ก็ยังมีบ้านที่ใช้ระบบปรับอากาศแบบหน้าต่างอยู่ประมาณร้อยละ 20 มีมูลค่าตลาด 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 โดยมีนิวยอร์คเป็นพื้นที่ที่นิยมใช้กันมากที่สุด

2 พื้นที่ที่ดูจะได้รับผลกระทบมากคือพื้นที่ซึ่งโดยปกติแล้วอากาศไม่ได้ร้อนสักเท่าไร แต่เมื่อมีคลื่นความร้อนที่ผลักอุณหภูมิขึ้นไปสูงถึงเลขสามหลัก (องศาฟาเรนไฮต์) อย่างเช่นเมือง Portland รัฐ Oregon ที่อุณภูมิพุ่งถึง 108 องศาฟาเรนไฮต์ในวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา แล้วในวันถัดมาก็ไต่ขึ้นไปที่ 112 และ 115 องศาฟาเรนไฮต์ตามลำดับ และเมืองซีแอตเทิลที่ในรอบ 70 ปีที่ผ่านมาเคยมีอุณหภูมิสูงถึงตัวเลขสามหลักมาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น (อุณหภูมิ 103 องศาฟาเรนไฮต์ ในวันที่ 29 ก.ค. 2009 และ 100 องศาฟาเรนไฮต์ในวันที่ 20 ก.ค. 1994) ในขณะที่บ้านในเมืองนี้มีระบบปรับอากาศอยู่เพียงร้อยละ 44 เป็นระบบปรับอากาศส่วนกลางเสียร้อยละ 22 และมีถึงร้อยละ 15 ที่ทั้งบ้านมีเครื่องปรับอากาศแค่เครื่องเดียว หากมองภาพรวมทั่วประเทศ ระบบปรับอากาศที่นิยมใช้ที่สุดคือระบบปรับอากาศจากส่วนกลาง (82.7 ล้านหลังหรือร้อยละ 67) รองลงมาคือ แบบติดกำแพงหรือหน้าต่าง (21.4 ล้านหลังหรือร้อยละ 17) และมีประมาณร้อยละ 11 หรือ 14 ล้านหลังที่ไม่มีระบบใดๆ

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: มลรัฐฟลอริดาหรือเป็นที่รู้จักในนาม “รัฐอาทิตย์ฉายแสง” หรือที่รู้จักกันในนาม Sunshine State ที่ขึ้นชื่อว่ามีอากาศร้อนเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้รู้สึกอบอ้าวสักเท่าไร เพราะแม้แสงแดดจะร้อนรุนแรงกว่าเท่าที่เคยประสบมาในประเทศไทยมาก แต่ด้วยเหตุที่มีกระแสลมพัดโบกอยู่ต่อเนื่องจึงไม่รู้สึกว่ารำคาญตัว เหนอะหนะแบบอากาศช่วงร้อนๆ ในไทย แต่สำหรับคนอเมริกันแล้ว อากาศที่ฟลอริดานี้ร้อนจนหลายๆ คนบ่นกันให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในฟลอริดาซึ่งเป็นเมืองที่บรรดาเศรษฐีสูงวัยจาก มลรัฐทางเหนือของสหรัฐฯ หลบภัยหนาวมาพำนักถาวรกันมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่คุ้นชินกับอากาศร้อน ระบบปรับอากาศจึงมีใช้กันแทบทุกหนแห่งเหมือนเป็นประตูหน้าต่างบ้านกันเลย จะหาบ้านพักที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศเลยคงหาได้ยาก

สำหรับคนอเมริกันในเมืองอื่นๆ ก็เช่นกัน แม้สภาพอากาศที่เป็นข่าวคราวใหญ่โตมักจะเป็นสภาพอากาศหนาวหรือพายุฝนที่รุนแรง แต่หลายๆ ปีมานี้ คลื่นความร้อนเริ่มกลายเป็นประเด็นปัญหาในหลายๆ พื้นที่ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป บ่อยขึ้นและเมื่อมากันแต่ละครั้งก็โอ้เอ้ ไม่ยอมจากไปง่ายๆ อยู่เนืองๆ และด้วยรายได้ที่สูงกว่ามาตรฐานประเทศอื่นๆ จึงมีกำลังซื้อพอที่จะซื้อเก็บไว้เพื่อตกแต่งบ้าน เผื่อต้องใช้งานในวันที่คลื่นความร้อนมาเยือน เชื่อได้ว่าระดับอุปสงค์ต่อระบบปรับอากาศจะยังคงอยู่และขยายตัวต่อเนื่องต่อไปอีกด้วยแนวโน้มของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่จะทำให้โลกมีโอกาสคุ้นชินกับความร้อนมากขึ้น บ่อยขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเครื่องปรับอากาศถูกๆ หรือระบบแบบใดก็ได้ที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวอเมริกัน เพราะคนรุ่นปัจจุบัน ตระหนักดีว่าภาวะโลกร้อนมาจากน้ำมือมนุษย์กันเอง จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยสารเรือนกระจกน้อยหรือหากถึงขั้นปราศจากการปล่อยสารเรือนกระจกออกมาเลยได้ยิ่งดี และด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ราคาพลังงานมีปัญหาขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่ไม่นอนอยู่เช่นทุกวันนี้ พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนจึงได้รับการตอบรับจากชาวอเมริกันอย่างเต็มที่ ระบบปรับอากาศที่จะประสบความสำเร็จในตลาดนี้ อาจต้องพยายามพัฒนาให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยต้นทุนพลังงานเองและต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด มีผลกระทบน้อยที่สุด และหากสามารถนำระบบการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดหรือพลังงานราคาถูกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ให้มาเป็นส่วนหนึ่งในแหล่งพลังงานที่ใช้ได้ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้นได้ และที่สำคัญก็คือ การประชาสัมพันธ์ถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเรื่องเหล่านี้ให้ผู้ซื้อเป้าหมายได้รับรู้รับทราบด้วยจะยิ่งดีขึ้นไปอีกด้วย

*********************************************************

ที่มา: The Wall Street Journal
เรื่อง: “Heat Waves Now Last Longer, Spurring an Air-Conditioning Boom”
โดย: Julia Carpenter และ Anthony De Leon
สคต. ไมอามี /วันที่ 13 กรกฎาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login