หน้าแรกTrade insightข้าว > สินค้าแฟร์เทรดในสวิตเซอร์แลนด์เติบโตสดใส – “ข้าว” ขยับขึ้นครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3

สินค้าแฟร์เทรดในสวิตเซอร์แลนด์เติบโตสดใส – “ข้าว” ขยับขึ้นครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

การแพร่ระบาดของโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สงคราม วิกฤตการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเกษตรกรในประเทศที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา นาง Kathrin Amacker ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ Fairtrade Max Havelaar ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่มีพันธกิจในการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้บริโภคในสวิตเซอร์แลนด์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อผู้ที่ผลิตสินค้าให้พวกเขา ด้วยการหันมาพิจารณาเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดมากขึ้นอย่างมีนัย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าแฟร์เทรดในตลาดสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในระดับสูง และด้วยอัตราการบริโภคต่อหัวที่ 104 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 4,100 บาท) ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้จ่ายสำหรับสินค้าแฟร์เทรดมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

เกษตรกรในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกากำลังเผชิญกับภารกิจที่ยากลำบากในการหารายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดจากวิกฤต ในขณะเดียวกัน พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงข้อกำหนดด้านกฎระเบียบสำหรับการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นาง Amacker เน้นย้ำว่า ในการปรับกฎระเบียบ เกษตรจะต้องไม่เป็นผู้แบกรับแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตและดำเนินธุรกิจต้องรับผิดชอบและแบ่งรับค่าใช้จ่ายอย่างยุติธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ บริการการรับรอง คำแนะนำ และโปรแกรมของ Fairtrade สามารถช่วยให้เกษตรกรจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพและแบ่งรับค่าใช้จ่ายอย่างยุติธรรมมากขึ้น

Fairtrade Max Havelaar ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ในนครซูริก Fairtrade Max Havelaar เป็นผู้ให้การรับรองตรา Fairtrade ในสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามเกณฑ์ทางสังคมและระบบนิเวศที่เข้มงวด และมีการซื้อขายอย่างยุติธรรม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดกว่า 3,000 รายการ การดำเนินการขององค์กรช่วยให้เกษตรกรรายย่อยและคนงานที่เสียเปรียบจากการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมทั่วโลกมีรายได้สูงขึ้นและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น นอกเหนือจากการรับรองแล้ว Fairtrade Max Havelaar ยังเสนอบริการอื่น ๆ ในด้านความยั่งยืน การจัดซื้อ และการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กร Fairtrade ระดับประเทศอีก 20 องค์กร และเครือข่ายผู้ผลิต 3 เครือข่ายจากเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา Fairtrade Max Havelaar เป็นพันธมิตรกับองค์กรหลัก Fairtrade International

องค์กรฯ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตและเกษตรกรรายย่อย เช่น 1. กลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ (The rice cooperative Organic Jasmine Rice Producer Group in Thailand – OJRPG) 2. วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม จังหวัดยโสธร (Nam Om Community Enterprise Group) 3. กลุ่มผู้ปลูกสับปะรดแฟร์เทรดสามร้อยยอด (Samroiyod Fairtrade Pineapple Growers Group) เป็นต้น

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2022 จัดทำโดย Fairtrade Max Havelaar Switzerland ระบุว่า ในปี 2022 ยอดขายสินค้าแฟร์เทรดในสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 913 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 36 พันล้านบาท) โดยสินค้าแฟร์เทรดที่ครองส่วนแบ่งตลาด (โดยประมาณตามปริมาณการขาย) มากที่สุด ได้แก่ 1. น้ำตาล (95 %) 2. กล้วย (58 %) 3. ข้าว (39 %) 4. น้ำผลไม้ (35 %) 5. สัปปะรด (29 %) 6. ช็อคโกแลต (18 %) 7. กาแฟ (16 %)  8. น้ำผึ้ง (12 %) และ 9. ชา (10 %)

ข้าวแฟร์เทรด จากเดิมในปี 2021 ที่ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31 (อันดับ 5) ได้ขยับขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 39 (อันดับ 3) ในปี 2022 ด้วยยอดขายรวมทั้งสิ้น 23.61 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 938 ล้านบาท) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5 เมื่อเทียบกับปีผ่านมา ข้าวที่ได้รับการรับรองแฟร์เทรดมีสัดส่วนร้อยละ 31 ของตลาดข้าวทั้งหมดในสวิตเซอร์แลนด์ โดยในสัดส่วนดังกล่าวเป็นข้าวที่ได้การรับรองออแกร์นิกด้วยถึงร้อยละ 72

ข้อสังเกต/ข้อคิดเห็น

1. ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดส่งออกข้าวของไทย โดยนอกจากการนำเสนอข้าวพรีเมียม เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีคุณภาพและรสชาติเป็นที่รู้จักดีในตลาดสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ข้าวตลาดเฉพาะอย่างข้าวอินทรีย์ ข้าวโภชนาการสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสี ข้าวไรซ์เบอร์รี เป็นสินค้าที่สามารถเจาะตลาดคนรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี

2. สินค้าแฟร์เทรดเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในสวิตเซอร์แลนด์ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตรารับรองแฟร์เทรดเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีตลาดพิเศษเฉพาะที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรมในการค้า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต “แฟร์เทรด” จึงถือเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย

Fairtrade Max Havelaar

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login