หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > ศักยภาพของแคนาดากับการเป็นผู้นำสินค้า Plant Based ในระดับโลก

ศักยภาพของแคนาดากับการเป็นผู้นำสินค้า Plant Based ในระดับโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2566

ศักยภาพของแคนาดากับการเป็นผู้นำสินค้า Plant Based ในระดับโลก

แคนาดาเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย คนส่วนใหญ่จะรู้จักแคนาดาว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ เพชร เหล็ก ป่าไม้ ปุ๋ย (แร่โพแทช) แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ด้วยขนาดของพื้นที่เพาะปลูกที่มหาศาลนั้น แคนาดาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชถั่วพัลส์ (Pulse) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของการผลิตสินค้า Plant Based Protein ในปัจจุบัน

ถั่ว Pulse เป็นถั่วในกลุ่มธัญพืชที่มีสารอาหารโปรตีนสูง    มีกากใยสูง มีไขมันต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก) แคนาดามีการปลูกถั่ว Pulse 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) Lentil 2) Chickpeas 3) Dry Peas และ 4) Faba Beans มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 8.8 ล้านเอเคอร์ (22.26 ล้านไร่) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3.1 พันล้านเหรียญแคนาดา (8.06 หมื่นล้านบาท) ปัจจุบันทั่วโลกแข่งขันกันแสวงหาทางเลือกของสารอาหารโปรตีนที่มาจากพืช ซึ่งแคนาดาเป็นผู้ผลิตและส่งออกถั่ว Lentil อันดับหนึ่งของโลก ในอดีตแคนาดาเป็นเพียงผู้ผลิตและส่งออกถั่ว Lentil แต่ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนได้เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าจากกลุ่มถั่ว Pulse มากขึ้น

บริษัท AGT Foods and Ingredients เป็นหนึ่งในผู้นำของการผลิตสินค้า Plant Based จากถั่ว Pulse ในแคนาดา มีโรงงานอยู่ 22 แห่งทั่วโลกทั้งในแคนาดา ตุรกี ออสเตรเลีย คาซัคสถาน และแอฟริกาใต้ โดยบริษัทคาดการณ์ว่า ความต้องการสินค้า Plant Based จากพืชตระกูลถั่วที่มีโปรตีนสูง (Pulse) ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสองเท่าไปเป็น 445 ล้านตันในปี 2593 (ภายในอีก 27 ปีข้างหน้า) เนื่องจากจำนวนประชาการโลกที่เพิ่มขึ้นและการเพิ่มผลผลิตของเนื้อสัตว์อาจไม่เพียงพอต่อประชากร ทำให้ต้องแสวงทางเลือกอื่นๆ ที่มาจากพืช นอกจากนี้ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญ กว่าร้อยละ 68 ของชาวอินเดียในปัจจุบันไม่ได้รับสารโปรตีนที่เพียงพอ ที่รวมถึงกลุ่มแม่ลูกอ่อนที่น้ำนมมีสารอาหารโปรตีนไม่เพียงพอทำให้กระทบต่อการพัฒนาการของเด็กเล็กได้ ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเพิ่มแหล่งผลิตสารอาหารโปรตีนจากสัตว์ให้มากขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวจะเพิ่มปัญหาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการทำ
ปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ถูกมองว่าเป็นการพัฒนาไม่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน ก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากปศุสัตว์ทั่วโลกมีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันถึงร้อยละ 18

ทุกวันนี้ การพัฒนาของสินค้า Plant Based ในแคนาดาไม่ได้เป็นแค่สิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อเบอร์เกอร์ เท่านั้น แต่ถั่วตระกูล Pulse ยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นสินค้าทดแทนตั้งแต่ ขนมปัง เส้นพาสต้า ขนมทานเล่น ที่ขยายขอบเขตไปมากกว่าเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนวัตถุดิบข้าวสาลี หรือสารคาร์โบไฮเดรตต่างๆ อีกด้วย

ถั่ว Pulse เป็นหนึ่งในกลุ่ม Legumes

นอกจากนี้ แนวคิดหรือประโยชน์ของการปลูกพืชตระกูลถั่วนั้น ยังดีต่อพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วยเนื่องจากเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน ช่วยปรับสภาพหน้าดิน สามารถเพิ่มสารไนโตรเจนให้กับพื้นที่เพาะปลูกในการปลูกพืชสลับ โดยเกษตรกรแคนาดาส่วนใหญ่จะมีการปลูกพืชถั่ว (Pulse) สลับกับการปลูกคาโนล่า (เป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญของแคนาดาที่ใช้ผลิตน้ำมันพืชและอาหารสัตว์) โดยธัญพืชถั่ว Pulse จะมีบทบาทและความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของแคนาดามากขึ้นในอนาคต

ความเห็นของ สคต.

ผู้บริโภคทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้นในการเลือกบริโภคสินค้าอาหาร โดยหนึ่งในกระแสที่สำคัญ ได้แก่ Plant Based Food โดยมองว่าเป็นหาทางเลือกสารอาหารโปรตีนจากพืช โดยปัจจัยที่ส่งเสริมกระแสดังกล่าวมาจาก 1) วัฒนธรรม (ศาสนาความเชื่อ) 2) สุขภาพ (ความเชื่อที่ว่าลดบริโภคเนื้อสัตว์จะช่วยส่งเสริมเรื่องสุขภาพ) 3) ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (การทำปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุการปล่อยก๊าซคาร์บอน) ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจสินค้า Plant Based มากขึ้น ทั้งนี้ แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตและส่งออกวัตถุดิบสินค้า Plant Based ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มถั่ว Pulse โดยเฉพาะถั่ว Lentil ที่แคนาดาเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นถั่วที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำและมีกากใยสูง จึงอาจเป็นทางเลือกวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการไทย นอกเหนือจากวัตถุดิบถั่วเหลือง (Soybean) เนื่องจากสินค้า Plant Based ส่วนใหญ่ของไทยจะเน้นใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลัก โดยปัจจุบัน กว่าร้อยละ 94 ของถั่วเหลืองที่ปลูกและบริโภคทั่วโลกเป็นสายพันธุ์ GMO Soybean ที่ผู้บริโภคบางกลุ่มในภูมิภาคอเมริกาเหนือและประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการบริโภค GMO Soybean โดยวัตถุดิบถั่ว (Pulse) ประเภทต่างๆ จากประเทศเมืองหนาวอย่างแคนาดาอาจเป็น วัตถุดิบทางเลือกใหม่ของไทยในการต่อยอดนวัตกรรมสินค้า Plant Based ในอนาคต

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login