หน้าแรกTrade insight > แนวโน้มความต้องการตลาด: บริษัทผู้นำเข้ากาแฟเดนมาร์กเน้นการนำเข้าเมล็ดกาแฟเพื่อสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มความต้องการตลาด: บริษัทผู้นำเข้ากาแฟเดนมาร์กเน้นการนำเข้าเมล็ดกาแฟเพื่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทผู้ผลิต และนำเข้ากาแฟเดนมาร์ก Slow A/S สร้างธุรกิจโมเดลเพื่อความยั่งยืนใหม่ เน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรการปลูกกาแฟเป็นหลัก

โมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ว่านี้เรียกว่า Forest Farming โดยมีจุดมั่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 โดยบริษัทฯ ได้ใช้มาตรฐานของ Science Based Targets (SBTI) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้

SBTI ได้ให้ความเห็นชอบเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าศูนย์ตันของบริษัท Slow ซึ่งเป็นเป้าหมายที่บริษัท และประเทศต่างๆ จะต้องมุ่งดำเนินการ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าศูนย์ตันนั้น บริษัทฯ จำเป็นจะต้องฟื้นฟูป่าที่เกี่ยวข้องกับการปลูกกาแฟเป็นการทดแทน จากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในกระบวนการผลิตกาแฟ เช่น การคั่ว และการขนส่ง

ผู้บริหารบริษัท Slow A/S กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าศูนย์ตันแล้ว นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคสามารถดื่มกาแฟลาเต้ที่เป็น climate-neutral latte ร่วมกับนมวัวได้ และเน้นว่า การที่บริษัทฯ สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกาแฟได้นั้น สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากผลิตภัณฑ์นมของบริษัทอื่น

โดยทั่วไปแล้ว กาแฟจะปล่อย CO2 3 กิโลกรัมต่อเมล็ดกาแฟคั่วและบด 1 กิโลกรัม (roasted and ground coffee beans) แต่ผลิตภัณฑ์ Slow Forest Coffee ประสบความสำเร็จในการนำ CO2 ออกจากบรรยากาศได้ 6 กิโลกรัมต่อกาแฟทุกๆ 1 กิโลกรัมที่ผลิตได้ ซึ่งสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซ CO2 ในวัตถุดิบอื่นๆ ตั้งแต่นมไปจนถึงสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่บริษัทซื้อ

โดยทั่วไปแล้วมาตรฐาน SBTI จะใช้โดยบริษัทที่ต้องการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ บริษัท Slow จะต้องลดการปล่อยมลพิษลงจากกระบวนการการผลิตกาแฟของบริษัทฯ เช่น การคั่วกาแฟ แต่เมื่อบริษัทฯ นำมาตรฐาน SBTI มาปรับใช้ บริษัทฯ ได้เห็นการปรับลดการปล่อยก๊าซจากแง่มุมอื่นๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งผู้บริหาร CEO ของบริษัทฯ กล่าวว่า บริษัทฯ สามารถตรวจสอบผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากธุรกิจของบริษัทฯ ได้ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ตลาดเดนมาร์กมีความสมบูรณ์มาก (mature market) จนแม้แต่การสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ เช่น การซื้อกาแฟ ก็สามารถมีส่วนช่วยในเรื่องสภาพภูมิอากาศได้

เบื้องหลังการที่บริษัทฯ สามารถทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบได้ คือ การปลูกป่า และวิธีการที่ SBTI ใช้เพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซ CO2
บริษัท Slow และเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในลาว และเวียดนามปลูกต้นไม้ประเภทต่างๆ ในพื้นที่ปลูกกาแฟ เพื่อให้กาแฟสามารถเติบโตภายใต้ร่มเงาไม้ที่เรียกว่าการทำการเกษตรด้วยวิธี Forest Farming ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ป่าไม้จับคาร์บอนในดินได้มากขึ้น และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น (biodiversity)

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากการใช้ที่ดิน หากบริษัทตัดไม้เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับการเพาะปลูกกาแฟมากขึ้น จะส่งผลให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่การปลูกป่าทดแทนพื้นที่เกษตรกรรมในอดีตก็อาจให้ผลตรงกันข้าม

ผู้บริหารบริษัท Slow คาดการณ์ว่า วิธีของบริษัทฯ สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ประมาณร้อยละ 20 ต่อเอเคอร์ ในทางกลับกัน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลอื่นๆ จากพื้นที่เดียวกันกับที่กาแฟปลูกได้

ถึงแม้ว่าผลผลิตต่อเฮกตาร์จะต่ำกว่าโดยวิธีการปลูกกาแฟโดยทั่วไป แต่ Slow ก็เลือกที่จะตั้งราคากาแฟให้เทียบเคียงกับคู่แข่งได้ ซึ่งสามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายเงินให้คนกลาง

ผู้บริหารบริษัท Slow เสริมว่า ปัจจุบัน ทั้งตลาด และความต้องการเริ่มที่จะทันกับแนวคิดของบริษัทฯ โดยเรียกผลิตภัณฑ์ว่า Forest Coffee ซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ทำประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมาจากวิธีการวัดแบบใหม่ที่มีเพียงไม่กี่บริษัทที่นำมาใช้ในปัจจุบัน โดยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว SBTI ได้เพิ่มทางเลือกใหม่นอกเหนือจากการวัดหน่วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามปกติ โดยบริษัทต่างๆ ยังสามารถนำสิ่งต่างๆ มาคำนวณได้ด้วย เช่น ความสำคัญของการปลูกป่า และการตัดโค่น

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้เรียกว่า FLAG: Forest, Land and Agriculture คือ บริษัทฯ ที่เข้าร่วมโครงการกับ SBTI จะเริ่มวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเริ่มการเพาะปลูก ซึ่งบริษัทฯ หวังว่า Slow จะได้รับประโยชน์จากการปลูกป่าใหม่ในอนาคต ซึ่งเรื่องราวยังสามารถพัฒนาไปในทางอื่นได้อีก หาก Slow เข้าครอบครองพื้นที่เพาะปลูกที่เคยเป็นป่าและส่งผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศ

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. ณ กรุงโคเปนเฮเกน:
• ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – มิถุนายน) กลุ่มประเทศนอร์ดิกนำเข้ากาแฟ (กลุ่มรหัสศุลกากร 090111 และ 090112) รวม 99,044 ตัน แบ่งออกเป็นสวีเดน 51,985 ตัน ฟินแลนด์ 22,137 ตัน นอร์เวย์ 17,459 ตัน เดนมาร์ก 6,951 ตัน และไอซ์แลนด์ 511 ตัน โดยนำเข้าจากบราซิล จำนวน 39,367 ตัน ฮอนดูรัส จำนวน 12,108 ตัน และโคลัมเบีย จำนวน 9,686 ตัน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 45 ของกลุ่มประเทศนอร์ดิก จำนวน 1.92 ตัน
• กฎระเบียบล่าสุดที่สำคัญที่สหภาพยุโรปเตรียมนำออกมาใช้ คือ กฎระเบียบการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM: Carbon Border Adjustment Mechanism โดยเก็บค่าธรรมเนียมสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยได้เผยแพร่ระเบียบนี้ไว้ใน Official Journal Regulation (EU) 2023/956 of the Council of 10 May 2023 establishing a carbon border adjustment mechanism ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเฉพาะ โดยผู้นำเข้าต้องรายงาน และจะเรียกเก็บภาษี CBAM นี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้คณะกรรมธิการสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรอง เพื่อประกอบการใช้บังคับระเบียบ CBAM ดังกล่าว
• มาตรฐาน Science Based Targets (SBTI) เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสากลที่กลุ่มผู้นำเข้าเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกยอมรับ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าตลาดเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกสามารถใช้มาตรฐาน SBTI เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาดได้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล SBTI พบว่ามีบริษัทเดนมาร์กจำนวน 185 บริษัทที่ใช้มาตรฐาน SBTI (มีบริษัทจำนวน 124 บริษัทที่ได้รับอนุมัติบรรลุเป้าหมาย) สวีเดน 284 บริษัท (184 บริษัทบรรลุเป้าหมาย) นอร์เวย์ 83 บริษัท (37 บริษัทบรรลุเป้าหมาย) ฟินแลนด์ 100 บริษัท (65 บริษัทบรรลุเป้าหมาย) ไอซ์แลนด์ 8 บริษัท (4 บริษัทบรรลุเป้าหมาย) และบริษัทฯจากประเทศไทยจำนวน 28 บริษัท (8 บริษัทบรรลุเป้าหมาย) รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เวปไซต์ sciencebasedtargets.org

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login