หน้าแรกTrade insightไก่ > รัฐบาลโครเอเชียออกมาตรการควบคุมเงินเฟ้อชุดที่ห้า อุดหนุนค่าไฟฟ้า ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ตรึงราคาสินค้าจำเป็น

รัฐบาลโครเอเชียออกมาตรการควบคุมเงินเฟ้อชุดที่ห้า อุดหนุนค่าไฟฟ้า ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ตรึงราคาสินค้าจำเป็น

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 25-29 กันยายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 นาย Andrej Plenković นายกรัฐมนตรีโครเอเชีย แถลงว่า คณะรัฐมนตรีโครเอเชียอนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะที่ 5 ในวงเงิน 464 ล้านยูโร (ประมาณ 1.787 หมื่นล้านบาท) ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – เดือนมีนาคม 2567 ต่อเนื่องจากมาตรการเดิมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมและรับมือกับภาวะเงินเฟ้อโลก ประกอบไปด้วย

 

  1. มาตรการตรึงราคาสินค้า 30 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567

รัฐบาลโครเอเชียกำหนดเพดานราคาสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นของจำเป็นในชีวิตประจำวัน 30 รายการ เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน นม แป้ง น้ำตาล ไก่ เนื้อหมู มันฝรั่ง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย เป็นต้น โดยพิจารณาจากฐานราคาค้าปลีกเฉลี่ยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อให้ราคาผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นเหล่านี้ ไม่กระทบกับประชาชนมากนัก โดยสินค้า 30 รายการนี้ ประกอบไปด้วย

ลำดับที่ รายการสินค้า ปริมาณ ราคาไม่เกิน (สกุล: ยูโร) เทียบราคาเป็นสกุลบาท (ประมาณ) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร = 38.7903 บาท
1. น้ำมันดอกทานตะวัน ขวดละ 1 ลิตร 1.72 66.72
2. นม UHT ไขมัน 2.8% กล่องละ 1 ลิตร 0.98 38.01
3. แป้งสาลีอเนกประสงค์ ประเภท 500 ถุงละ 1 กิโลกรัม 0.80 31.03
4. แป้งสาลีอเนกประสงค์ ประเภท 400 ถุงละ 1 กิโลกรัม 0.83 32.20
5. น้ำตาลทราย ถุงละ 1 กิโลกรัม 1.33 51.59
6. เนื้อไก่สดทั้งตัว 1 กิโลกรัม 3.32 128.78
7. หมูสับ/เนื้อหมูบดละเอียด 1 กิโลกรัม 4.11 159.43
8. โยเกิร์ตบรรจุขวดหรือถ้วยขนาดเล็ก ขวดหรือถ้วยปริมาณ 180-200 กรัม 0.49 19.01
9. เกาดาชีส (Gouda Cheese) 1 กิโลกรัม 6.49 251.75
10. ข้าว 1 กิโลกรัม 2.29 88.83
11. เส้นสปาเก็ตตี้ แพ็คละ 500 กรัม 1.09 42.28
12. ไข่ไก่สดขนาดกลาง แผงละ 10 ฟอง 2.45 95.04
13. เนื้อสันคอหมู ไม่มีกระดูก 1 กิโลกรัม 5.49 212.96
14. เนื้อสันคอวัว ติดกระดูก 1 กิโลกรัม 6.99 271.14
15. ฮอทดอกเนื้อไก่หรือไก่งวง 1 กิโลกรัม 2.69 104.35
16. เนื้อเบอร์เกอร์สำเร็จรูป 1 กิโลกรัม 6.99 271.14
17. มันฝรั่ง 5 กิโลกรัม 3.99 154.77
18. แครอท ถุงละ 1 กิโลกรัม 0.89 34.52
19. ถั่วแช่แข็ง ถุงละ 1 กิโลกรัม 1.99 77.19
20. เนื้อมะเขือเทศบดเข้มข้น 500 กรัม 1.09 42.28
21. มะนาว 1 กิโลกรัม 1.49 57.80
22. แอปเปิ้ล สายพันธุ์กาล่า 1 กิโลกรัม 1.39 53.92
23. ช็อกโกแลตนมแบบแท่ง แท่งละ 80-100 กรัม 1.29 50.04
24. น้ำเชื่อม 1 ลิตร 2.99 115.98
25. ยาสีฟัน หลอดละ 125 มิลลิลิตร 2.99 115.98
26. สบู่อาบน้ำ ขวดละ 250 มิลลิลิตร 2.99 115.98
27. แชมพู 1 ลิตร 3.49 135.38
28. กระดาษชำระ หนา 3 ชั้น แพ็คละ 10 ม้วน 2.99 115.98
29. ผ้าอนามัย ขนาดมาตรฐาน 1 ชิ้น 0.25 9.70
30. ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขนาดมาตรฐาน 1 ชิ้น 0.30 11.64

หมายเหตุ: โครเอเชียใช้เงินสกุลยูโรเป็นสกุลหลักของประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566
อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 26 กันยายน 2566 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย 1 ยูโร มีมูลค่า 38.7903 บาท

 

ทั้งนี้ รัฐบาลโครเอเชียแถลงว่าหากประชาชนซื้อสินค้าในรายการดังกล่าวนี้ จะสามารถลดราคาค่าครองชีพที่จำเป็นได้ประมาณ 20% โดยรัฐบาลโครเอเชียจะขอความร่วมมือให้ร้านค้าปลีกแสดงสัญลักษณ์ที่ระบุว่าสินค้าใดเข้าร่วมมาตรการลดราคาดังกล่าว และให้มีสินค้าจำหน่ายสม่ำเสมอ ไม่ขาดตลาด ทั้งนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในโครเอเชียสามารถตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้าร่วมนโยบายตรึงราคาสินค้าครั้งนี้ที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ https://kretanje-cijena.hr/

 

รูปภาพที่ 1: สัญลักษณ์ที่แสดงในร้านค้าปลีกว่าสินค้าอาหารประเภทใดเข้าร่วมนโยบายตรึงราคาสินค้าของรัฐบาลโครเอเชีย
ที่มาของข้อมูล: Poslovni.hr

 

  1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ตลอดจนภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง พายุ และไฟป่า

เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารและเยียวยาภาคการเกษตรที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโครเอเชีย รัฐบาลโครเอเชียจึงจะให้ทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนทำการเกษตร เงินช่วยเหลือครั้งเดียวสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในสัตว์และภัยธรรมชาติ และเงินอุดหนุนค่าเช่าที่ทำการเกษตรสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่สวนหรือไร่เป็นของตนเอง โดยมีระยะเวลาการช่วยเหลือจนถึงปี 2567 ในวงเงิน 69.8 ล้านยูโร (ประมาณ 2.694 พันล้านบาท)

 

  1. มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

3.1 รัฐบาลโครเอเชียจะช่วยอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคตามบ้าน ได้แก่ ค่าแก๊สธรรมชาติ ทำความอบอุ่นและค่าไฟฟ้า มูลค่า 70 ยูโร/1 ครัวเรือน/เดือน (ประมาณ 2,700 บาท) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567 และจะจ่ายเงินอุดหนุนค่าครองชีพครั้งเดียวแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เป็นเงินมูลค่า 150 ยูโร (ประมาณ 5,800 บาท) คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ราว 173,000 คน โดยประชาชนกลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการนี้ ได้แก่ ผู้พิการทุพพลภาพ ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และทหารผ่านศึกที่ปลดประจำการแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ ประชาชนที่ขึ้นทะเบียนว่างงานกับสำนักงานประกันสังคมโครเอเชีย จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพครั้งเดียวเป็นมูลค่า 100 ยูโร (ประมาณ 3,870 บาท) คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ราว 73,000 คน

3.2 รัฐบาลโครเอเชียจะจ่ายเงินอุดหนุนครั้งเดียวให้แก่ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว (อายุเกิน 65 ปี) และได้รับเงินบำนาญเดือนละน้อยกว่า 700 ยูโร (ประมาณ 27,070 บาท) กำหนดจ่ายเงินแตกต่างกันแต่อยู่ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 โดยเงินช่วยเหลือนี้ครั้งนี้จะไม่ถูกหักภาษี คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ราว 720,000 คน

 

  1. มาตรการควบคุมราคาค่าสาธารณูปโภค

รัฐบาลโครเอเชียจะใช้เงินงบประมาณ 388 ล้านยูโร ในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้านประมาณ 2,214,230 ครัวเรือน มีทั้งธุรกิจ SME 93,186 ราย สถานพยาบาล ศาสนสถาน สถานศึกษา และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 21,903 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลโครเอเชียรับประกันว่าในช่วงหกเดือนนี้ อัตราค่าไฟฟ้าจะไม่ปรับขึ้นไปอีก

 

  1. มาตรการช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตร

รัฐบาลโครเอเชียจะใช้เงินงบประมาณ 11 ล้านยูโร ในการจ่ายเงินอุดหนุนครอบครัวที่มีบุตรอย่างน้อย 1 คน คิดเป็นมูลค่า 50 ยูโร (ประมาณ 1,930 บาท) ต่อจำนวนบุตร 1 คน หากมีบุตรมากกว่า 5 คนขึ้นไป จะจ่ายเงินเหมาเป็นมูลค่า 300 ยูโร (ประมาณ 11,600 บาท) กำหนดจ่ายเงินในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 โดยเงินช่วยเหลือนี้ครั้งนี้จะไม่ถูกหักภาษี รัฐบาลโครเอเชียคาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือส่วนนี้ราว 112,000 ครอบครัว ครอบคลุมประชากรเด็กราว 220,000 คน

 

  1. มาตรการช่วยเหลือหน่วยงานสังคมสงเคราะห์

หน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมในโครเอเชีย ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับผู้ป่วย สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู ครอบครัวอุปถัมภ์ และผู้บริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care) จะได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือน ระหว่าง 70-540 ยูโร (ประมาณ 2,700-20,880 บาท) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 จนถึงเดือนมีนาคม 2567 ตามจำนวนเด็กหรือผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นๆ คาดว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณราว 4 ล้านยูโร และจะมีหน่วยงานที่ได้รับการช่วยเหลือประมาณราว 500 แห่งทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ก็ยินดีเข้าร่วมโครงการลดราคาสินค้าตามมาตรการของรัฐบาล และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ธนาคารแห่งชาติโครเอเชียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 4.25% เป็น 4.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จาก 3.75% เป็น 4.00% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) ของโครเอเชียล่าสุด ประจำเดือนสิงหาคม 2566อยู่ที่ 7.8% โดย CPI รายเดือน (MoM) ลดลงติดต่อกันเจ็ดเดือนแล้ว ทั้งนี้ CPI อัตราที่สูงที่สุดอยู่ที่อัตราประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่อยู่ที่ 13.5%

 

ด้านการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งชาติโครเอเชียยังคงการคาดการณ์การขยายตัว GDP ปี 2566 ไว้ที่ 2.9% YoY ในขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.9% YoY โดยคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชน ที่ได้แรงผลักดันจากการเพิ่มค่าแรง ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น รวมทั้ง การลงทุนจากเงินงบประมาณของสหภาพยุโรป จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวก็มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวโครเอเชียอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนภาวะโรคระบาด ส่วนปัจจัยความเสี่ยงภายนอก คือผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tensions) และภาวะสงครามในยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและระบบโลจิสติกส์

 

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติโครเอเชียยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 8.8% YoY ก่อนจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.7% YoY และ 2.4% YoY ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยคาดว่าราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญเริ่มคงตัว ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะไม่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ระบบห่วงโซ่อุปทานเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทว่ายังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การขนส่งเมล็ดธัญพืชของยูเครน ผ่านประเทศในสหภาพยุโรป โดยโครเอเชียมีจุดยืนว่า อนุญาตให้ยูเครนขนส่งธัญพืชไปยังประเทศที่สามผ่านโครเอเชียได้ แต่ห้ามนำมาจำหน่ายในตลาดโครเอเชียเด็ดขาด เพื่อป้องกันราคาพืชผลทางการเกษตรของโครเอเชียตกต่ำ

 

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ของ สคต.

มาตรการต่างๆ เหล่านี้ของรัฐบาลโครเอเชียมีจุดประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดูแลให้สวัสดิการให้แก่ประชาชนในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการใช้พลังงานในแต่ละครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นตามสภาพอากาศ รัฐบาลโครเอเชียหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ และช่วยบรรเทาปัญหาภาวะค่าครองชีพสูงได้

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนดังกล่าว จะสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครองชีพของชาวโครเอเชียในปี 2566 ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพปรับขึ้นสูงขึ้น

 

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบไทยสำรวจตลาดและเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการโครเอเชีย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงให้ข้อมูลงานแสดงสินค้าและบริการนานาชาติที่สำคัญในโครเอเชียในช่วงปี 2566-2567 ดังต่อไปนี้

    1. Ambienta ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ แสดงสินค้าของตกแต่งบ้านดีไซน์สวยงาม สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ใช้นอกบ้าน ของใช้บนโต๊ะอาหาร โคมไฟ และงานไม้ มีกำหนดจัดงานทุกปี
    2. Infogamer ระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2566 ณ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับวิดีโอเกม มีกำหนดจัดงานทุกปี
    3. CROAGRO ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมและเครื่องจักรทางการเกษตร มีกำหนดจัดงานทุกปี
    4. Food & Healthy Living Fairs ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีกำหนดจัดงานทุกปี
    5. Zagreb Auto Show ช่วงเดือนมีนาคม 2567 ณ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ มีกำหนดจัดงานทุกปี
    6. Dentex Zagreb ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2567 ณ Zagreb Fair กรุงซาเกร็บ แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านทันตกรรม มีกำหนดจัดงานทุก 2 ปี
    7. SASO ช่วงเดือนตุลาคม 2567 ณ Spaladium Arena เมืองสปลิท แสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้และโลหะ เครื่องมือช่าง วิศวกรรมไฟฟ้า โทรคมนาคม และการก่อสร้าง มีกำหนดจัดงานทุกปี

 

ที่มาของข้อมูล

    • https://mrosp.gov.hr/vijesti/na-sjednici-vlade-rh-usvojen-peti-paket-mjera-pomoci-za-ublazavanje-inflatornih-ucinaka-i-porasta-cijena-energenata-vrijedan/13168
    • https://vlada.gov.hr/vijesti/predstavljen-peti-antiinflacijski-paket-mjera-vlade-cijena-struje-ostaje-ista-ogranicavaju-se-cijene-za-30-proizvoda/39002
    • https://www.croatiaweek.com/croatia-caps-prices-of-30-supermarket-products/
    • https://www.hnb.hr/en/analyses-and-publications/macroeconomic-projections
    • https://www.poslovni.hr/hrvatska/foto-proizvodi-kojima-je-cijena-zamrznuta-imat-ce-ovu-oznaku-4408630
    • https://www.slobodenpecat.mk/en/pagjaat-cenite-vo-hrvatska-vladata-prezema-antiinflatorni-merki/
    • https://www.vecernji.hr/vijesti/uskoro-uzivo-plenkovic-predstavlja-novi-paket-mjera-za-pomoc-protiv-krize-1709276
    • https://www.vecernji.hr/vijesti/od-danas-vrijede-ogranicene-cijene-za-30-proizvoda-bit-ce-oznacene-posebnim-znakom-1710062

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
25-29 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login