หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > เวียดนามอนุมัติดำเนินการวางแผนพัฒนาท่าเรือ

เวียดนามอนุมัติดำเนินการวางแผนพัฒนาท่าเรือ

นาย Tran Hong Ha รองนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติแผน  การดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบท่าเรือแห่งชาติในช่วงปี 2564-2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ระบุถึงหน้าที่ วิธีการแก้ไข และระบุโครงการที่จะดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 กลไกการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และคณะกรรมการประชาชนของจังหวัดและเมืองต่างๆในการดำเนินการ นอกจากนี้แผนดังกล่าวยังวางแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ และคณะกรรมการประชาชนของจังหวัดและเมืองต่างๆ ในการจัดทำแผนของตนใน     การดำเนินการตามแผนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีภารกิจหลัก 3 ประการในการดำเนินการตามแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติขั้นตอนการวางแผน การดำเนินการตามกรอบกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาการเดินเรือ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นโยบายและแนวทางแก้ไขเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บท ได้แก่ นโยบายเพื่อดึงดูดเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแก้ไขต้องรับประกันความมั่นคงทางสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม และความมั่นคง

ภายใต้แผนพัฒนาท่าเรือแห่งชาติที่ได้รับอนุมัติในช่วงปี 2564-2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 โดยท่าเรือได้แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาด ระบบท่าเรือเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟและเส้นทางเดินเรือ เช่นเดียวกับทางหลวงแผ่นดินและระบบในภาคท้องถิ่น กลุ่มแรกประกอบด้วยท่าเรือทางตอนเหนือ 5 แห่งในจังหวัด ไฮฟอง (Hai Phong) กว๋างนิญ (Quang Ninh) ไทยบิ่ง (Thai Binh) นามดิงห์ (Nam Dinh) และนิงห์บิงห์ (Ninh Binh)

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยท่าเรือ 6 แห่งทางตอนเหนือของภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดทัญฮว้า (Thanh Hoa) เหงะอาน (Nghe An) ห่าติ๋ญ(Ha Tinh) กว๋างบิ่ญ (Quang Binh) กว๋างจิ (Quang Tri) และ เถื่อเทียนเว้ (Thua Thien-Hue) ในขณะที่กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยท่าเรือ 8 แห่งทางตอนใต้ของภาคกลาง ได้แก่ ดานัง (Da Nang) กว๋างนาม (Quang Nam) กว๋างหงาย (Quang Ngai) บินห์ดิงห์ (Binh Dinh) ฟู้เอียน (Phu Yen) คั้ญหว่า (Khanh Hoa) นิญถ่วน (Ninh Thuan) และบินห์ถ่วน (Binh Thuan)

กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วยท่าเรือ 5 แห่งในนครโฮจิมินห์และจังหวัดทางตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดด่งนาย (Dong Nai) บ่าเสียะ-หวุงเต่า (Ba Ria-Vung Tau) บินห์เดือง (Binh Duong)  และลองอัน (Long An)

กลุ่มท่าเรือสุดท้ายประกอบด้วยท่าเรือ 12 แห่ง ได้แก่ จังหวัด เกิ่นเทอ (Can Tho) ด่งท้าป (Dong Thap) เตี่ยนซาง (Tien Giang) หวิญล็อง (Vinh Long) เบ๊นแจ (Ben Tre) อานซาง (An Giang) เหิ่วซาง (Hau Giang) ซ้อกจัง (Soc Trang) จ่าวิญ (Tra Vinh) ก่าเมา (Ca Mau)  บักเลียว (Bac Lieu) และ เกียนซาง (Kien Giang) ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

แผนแม่บทให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระหว่างประเทศ เช่น ท่าเรือ Lach Huyen ในเมืองไฮฟองและท่าเรือ Cai Mep ในเมืองบ่าเสียะ – หวุงเต่า ในขณะเดียวกัน จะมีกลไกและนโยบายที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงท่าเรือขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ Van Phong จังหวัดคั้ญหว่า จากการวางแผน เวียดนามมีท่าเรือพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ ไฮฟองและบ่าเสียะ-หวุงเต่า ท่าเรือระดับ 1 มี 15 ท่า ท่าเรือระดับ 2 มี 6 ท่า และท่าเรือระดับ 3 มี 13 ท่า ระบบท่าเรือคาดว่า จะสามารถรองรับสินค้าได้ 1,140 ถึง 1,423 ล้านตัน ซึ่งรวมถึงสินค้าคอนเทนเนอร์ 38 ถึง 47 ล้าน TEU และขนส่งผู้โดยสารประมาณ 10.1 ถึง 10.3 ล้านคน การลงทุนทั้งหมดสำหรับโครงการจนถึงปี 2573 อยู่ที่ประมาณ 313 ล้านล้านด่ง (13,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

                                         (จาก https://vietnamnews.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 50 ประเทศมีดัชนีโลจิสติกส์สูงในตลาดเกิดใหม่ในปี 2565 เศรษฐกิจของเวียดนามฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 1.158 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และคาดการณ์ว่า ตลาดขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จะเติบโตร้อยละ 5.5 ต่อปี ในช่วงปี 2565 – 2570 ซึ่งแสดงถึงตลาดการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์เติบโตมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของระบบการจัดเก็บและคลังสินค้ายังมีไม่มากนัก โดยมีบริษัทโลจิสติกส์หลายแห่งยังไม่สามารถเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้ ในขณะที่ ความต้องการสำหรับระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ที่มีทั้งระบบอัตโนมัติและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ค้าปลีกและอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในเวียดนามอยู่ในอันดับสูงดังนั้น อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเวียดนามจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคลังสินค้าและท่าเรือที่ทันสมัย ประยุกต์ใช้การจัดการแบบดิจิทัลและอัตโนมัติ และเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจากการอนุมัติดำเนินการวางแผนพัฒนาท่าเรือของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้บริการสินค้าส่งออกพร้อมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือได้พัฒนามากขึ้นและท่าเรือของเวียดนามมีส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าและส่งออกผ่านท่าเรือ และปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือของเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคสำหรับสินค้าไทยในการดำเนินการส่งออกสินค้ามายังเวียดนาม ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วขึ้นในอนาคต

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login