หน้าแรกTrade insightข้าว > ส่องสถานการณ์ข้าวในตลาดจีน

ส่องสถานการณ์ข้าวในตลาดจีน

เมื่อพิจารณาจากปริมาณการผลิตข้าวระหว่างปี ค.ศ. 2017/18 – 2022/23 จะพบว่าปริมาณการผลิตข้าวจีนมีความผันผวน แต่อย่างไรก็ดี ยังมีการเติบโตของผลผลิตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี และจากข้อมูลล่าสุดพบว่าในปี ค.ศ. 2021/2022 จีนมีปริมาณผลผลิตข้าวจำนวน 148.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 (YoY) และคาดว่าในปี ค.ศ. 2022/2023 จีนจะมีปริมาณการผลิตข้าวจำนวน 147 ล้านตัน และยังคงมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

สำหรับปริมาณการบริโภคข้าวของจีนจากข้อมูลที่เปิดเผยโดยศูนย์ข้อมูลธัญพืชและน้ำมันแห่งชาติจีน (China National Grain and Oils Information Center) พบว่าจีนมีการบริโภคข้าวเปลือกในปีค.ศ. 2019/20 จำนวน 194.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 800,000 ตัน ในขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกมีจำนวน 210 ล้านตัน และในปี ค.ศ. 2020/21 จีนมีการบริโภคข้าวเปลือกจำนวน 208 ล้านตัน ขณะที่ล่าสุดในปี ค.ศ. 2021/22 จีนมีการบริโภคข้าวเปลือกจำนวน 209 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าแม้การบริโภคข้าวของจีนจะเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็เป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณการบริโภคข้าวสารในจีนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยปี ค.ศ. 2021/22 จีนมีการบริโภคข้าวสารจำนวน 156.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 (YoY) แต่อย่างไรก็ดีในปี ค.ศ. 2022/23 คาดว่าจีนจะมีปริมาณการบริโภคข้าวสารลดลงร้อยละ 0.2 (YoY) หรือมีปริมาณการบริโภคคิดเป็น 156.10 ล้านตัน

ด้านราคาข้าวในตลาดจีน พบว่าในปี ค.ศ. 2021 – 2022 ราคาข้าวในตลาดจีนมีแนวโน้มลดลงในช่วงแรกและเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นมา ราคาข้าวในตลาดจีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในช่วงเดือนมีนาคม 2021 มีราคา 2,934 หยวนต่อตันหรือประมาณ 14,670 ล้านบาทต่อตัน จนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 2021 ราคาลดเหลือ 2,696 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 13,480 บาทต่อตัน ลดลงร้อยละ 8 (YoY) และตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 2022 ราคาข้าวในตลาดโดยรวมค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขณะที่เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายปี ค.ศ.​ 2022 พบว่าราคาข้าวในตลาดเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

เมื่อพิจารณาด้านอุปทานและอุปสงค์ของข้าวจีนพบว่า ปริมาณการผลิตข้าวจีนปี ค.ศ. 2021/22 มีจำนวน 148.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 700,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 (YoY) ขณะที่การบริโภคมีจำนวน156.34 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการผลิตได้เอง ทำให้จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ นอกจากนี้ รายงาน China Agriculture Outlook ยังเปิดเผยว่า การบริโภคอาหารของประชาชนจะถูกยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มที่ประชาชนจะบริโภคข้าวสารลดลงเล็กน้อย แต่สัดส่วนการบริโภคข้าวเปลือกยังคงรักษาระดับอยู่ที่ร้อยละ 69 ขึ้นไป ส่วนการบริโภคข้าวในด้านอาหารสัตว์จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงแรกก่อนที่จะเพิ่มขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามราคาต้นทุนอาหารสัตว์ รวมถึงการพัฒนาด้านปศุสัตว์

สำหรับด้านการนำเข้าข้าวของจีนในปี ค.ศ. 2023 พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 จีนนำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสารจำนวน 360,000 ตัน ลดลงร้อยละ 35.4 (YoY) และตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2023 จีนนำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสารจำนวน 610,000 ตัน ลดลงร้อยละ 46.1 (YoY) สำหรับสถานการณ์ด้านการส่งออก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 จีนส่งออกข้าวเปลือกและข้าวสารจำนวน 40,000 ตัน ลดลงร้อยละ 79.8 (YoY) และตั้งแต่เดือนมกราคม –กุมภาพันธ์ 2023 จีนส่งออกข้าวเปลือกและข้าวสารจำนวน 150,000 ตัน ลดลงร้อยละ 52.2 (YoY) อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าข้าวเปลือกและข้าวสารที่ลดลง มีสาเหตุมาจากปริมาณการผลิตข้าวทั่วโลกที่ลดลง ส่งให้ราคาข้าวในตลาดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของโลกได้ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ทำให้ในเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา อินเดียประกาศเพิ่มภาษีส่งออกข้าวเพื่อจำกัดการส่งออก ทำให้ราคาข้าวโลกปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ราคานำเข้าข้าวของจีนปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย โดยตั้งแต่ดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2023 จีนมีราคานำเข้าข้าวโดยเฉลี่ย 3,388.6 ตันต่อหยวน หรือประมาณ 16,943 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้น 622.35 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 3,111.75 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 (YoY)

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จีนเป็นประเทศผู้บริโภคข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นผู้ผลิตข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตของจีนยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค ทำให้จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง โดยในปี ค.ศ. 2022 จีนนำเข้าข้าวจากไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.45 (YoY) ดังนั้น จึงถือว่าตลาดจีนก็ยังเป็นตลาดส่งออกที่ไทยยังคงสามารถแสวงหาโอกาสในการเจาะตลาดข้าวไทยได้ในระยะสั้น – ระยะปานกลาง เนื่องจากปัจจุบันจีนเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศ ทำให้การเจาะตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวในตลาดจีนเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาข้อมูลประกอบอย่างรอบด้าน
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสินค้าเกษตร นโยบายด้านความปลอดภัยของอาหาร และนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าของจีน ที่ถือเป็นนโยบายที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ส่งออกไทยที่อาศัยตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยต้องติดตามสถานการณ์ภายในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐ หรือพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน เพื่อให้สามารถวางแผนและปรับกลยุทธ์การส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดจีนในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง แสวงหาโอกาสในการส่งออกข้าวไทยในรูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีน เช่น ข้าวหอมมะลิพร้อมรับประทาน ข้าวหอมมะลิที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปต่างๆ ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย และง่ายต่อการรับประทานในแต่ละมื้อ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าวไทยสามารถขยายตลาดส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น รวมทั้งยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของข้าวไทยในจีนได้อย่างยั่งยืน และมีโอกาสที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มา :

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1755507915348814687&wfr=spider&for=pc

https://www.chinairn.com/news/20230419/163308447.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login