หน้าแรกTrade insight > พาณิชย์ จับตาความคืบหน้าเบร็กซิท

พาณิชย์ จับตาความคืบหน้าเบร็กซิท

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า เบร็กซิทจะเป็นโอกาสในการผลักดันการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี (Temporary rate of custom duties) ในกรณีการออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบเครื่องยนต์ หลังจากที่สหราชอาณาจักรได้ลงประชามติขอออกจากสหภาพยุโรปและได้ดำเนินกระบวนการเจรจาหาข้อตกลงเบร็กซิทมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี 

นางสาวพิมพ์ชนกฯ ให้ข้อมูลว่า เดิมสหราชอาณาจักรมีกำหนดจะออกจากสหภาพยุโรป ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้เลื่อนขยายเวลาออกไป และนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรพยายามผลักดันให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่แน่นอนว่า สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะสามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิทได้หรือไม่ ขณะนี้รัฐสภาสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างช่วงพักการประชุม และจะเปิดสมัยประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า สมาชิกรัฐสภาอาจไม่สามารถพิจารณาข้อตกลงเบร็กซิทฉบับใหม่ได้ทันกำหนด อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรตัดสินว่า การที่นายบอริสปิดประชุมรัฐสภานั้นขัดต่อกฎหมายและจะมีผลให้รัฐสภากลับมาประชุมตามปกติก็ยิ่งสร้างความไม่แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและทีมเจรจาเบร็กซิทของสหราชอาณาจักรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาต้องการให้นายบอริสขอเลื่อนเวลาเบร็กซิทออกไปอีกเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณี No-deal Brexit

สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเบร็กซิทจะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปชะลอตัวลงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมากกว่าสหภาพยุโรป เนื่องจากการค้าของสหราชอาณาจักรพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปกว่าร้อยละ 50 ขณะที่สหภาพยุโรปพึ่งพาตลาดสหราชอาณาจักรเพียงร้อยละ 5  โดย International Monetary Fund (IMF) ได้คาดการณ์ว่า หากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงจะทำให้ GDP ของสหราชอาณาจักรลดลงร้อยละ 2.5-4.0 ในขณะที่ GDP ของสหภาพยุโรปจะลดลงร้อยละ 1.5 และกรณี No-deal Brexit GDP ของสหราชอาณาจักรจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.0-8.0 ในขณะที่ GDP ของสหภาพยุโรปจะลดลงร้อยละ 0.8 นอกจากนี้ ค่าเงินปอนด์ยังอ่อนค่าลงทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ 2.5 ในปี 2561 รวมถึง กรณี No-deal Brexit จะสร้างต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น และสูญเสียความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ส่งผลให้นักลงทุนอาจพิจารณาย้ายการลงทุนจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปมากขึ้น โดยเฉพาะแถบยุโรปตะวันออกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความเป็นสหภาพศุลกากร

นางสาวพิมพ์ชนกฯ เปิดเผยว่า สำหรับการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยในเบื้องต้นพบว่า ในปี 2561 การส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมูลค่า 4,026.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 0.4 สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอันดับ 18 ของไทย และอันดับที่ 3 ของไทยในสหภาพยุโรป (รองจากเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี) แม้ว่าการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่มีกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เนื่องจากการยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี (Temporary rate of custom duties) ในกรณี No-deal Brexit โดยจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมดของสหราชอาณาจักร แต่มีการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าที่มีความอ่อนไหวอีก 26 กลุ่ม อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อ แกะ หมู และสัตว์ปีก) และผลิตภัณฑ์นม เนย ชีส ข้าว รถยนต์ สิ่งทอ เซรามิก เอทานอล กล้วย น้ำตาล และสินค้าประมงบางชนิด เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาสินค้า 20 รายการแรกที่ไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักรพบว่า ผลกระทบจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 1 ปีเมื่อเบร็กซิทมีผลบังคับ ซึ่งเดิมเคยถูกเก็บภาษีนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป มูลค่า 962.59 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 23.90 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบของเครื่องยนต์เครื่องยนต์เบนซิน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ เครื่องอัดลมและเครื่องระบายอากาศ บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยพลาสติก ยางรถยนต์ วงจรพิมพ์ แว่นตา ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และอุปกรณ์สำหรับควบคุมระบบไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีโอกาสผลักดันการส่งออก แม้ว่ายังคงอัตราภาษีนำเข้าในอัตราใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปและอยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของสหราชอาณาจักร มูลค่า 1,282.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 31.86 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ เนื้อสัตว์ (ไก่แปรรูปปรุงสุก) ยานพาหนะเพื่อการขนส่งสินค้า รถจักรยานยนต์ รถยนต์และยานยนต์เพื่อขนส่งบุคคล และข้าว และ กลุ่มที่ 3 สินค้าที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากภาษีนำเข้าร้อยละ 0 อยู่แล้ว มูลค่า 238.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.93 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องโทรศัพท์ รวมถึงเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่นๆ

นางสาวพิมพ์ชนกฯ เน้นย้ำว่า การยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปีของสหราชอาณาจักรจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มแรก รวมทั้งเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดันให้เกิดการขยายการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของไทยไปยังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปควรติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งหาโอกาสเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง

 

เอกสารเพิ่มเติม คลิกที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login