ดูไบได้รับการยกย่องเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ประเภทการลงทุนใหม่ หรือ Greenfield เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน นับเป็นมูลค่า FDI ที่สูงที่สุดในปีหนึ่งที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2563
ตัวเลขในปี 2567 มีเงินทุนไหลเข้า 14,240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 33.2% จากปีก่อนหน้าที่มีการลงทุนที่ 10,690 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงสุด ที่เคยบันทึกไว้ โดยมีโครงการ Greenfield FDI 1,117 โครงการ มีการสร้างงานโดยประมาณ 58,680 ตำแหน่งผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จาก 44,745 ตำแหน่งในปี 2566 สามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกด้วยนโยบายที่ชาญฉลาด โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และวิสัยทัศน์ในอนาคต
ความสำเร็จนี้เกิดจากวาระเศรษฐกิจ D33 (Dubai Economic Agenda D33) ที่ตั้งเป้าจะเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของดูไบให้ใหญ่เป็นสองเท่าภายใน พ.ศ. 2576 และก้าวสู่การเป็นหนึ่งในสามเมืองเศรษฐกิจชั้นนำของโลก Sheikh Hamdan bin Mohammed bin Rashid Al Maktoum มกุฎราชกุมารแห่งดูไบ กล่าวว่าดูไบพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการกำหนดมาตรฐานใหม่ระดับโลก และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างต่อเนื่องครองอันดับหนึ่งในตะวันออกกลางและแอฟริกา (Middle East and Africa : MEA) ทั้งด้านเงินทุน โครงการ และการสร้างงาน รวมถึงขึ้นแท่นอันดับสามของโลกด้านการสร้างงานจาก FDI และอันดับหนึ่งด้านการดึงดูดการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ (HQ) เป็นปีที่สามติดต่อกัน และแสดงถึงความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านการดึงดูดการลงทุน ในภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้าน Software และ IT อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและคลังสินค้า บริการทางการเงิน อุปกรณ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค และการสื่อสาร
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศประเภท Greenfield ในดูไบ
นอกจากนี้ ดูไบยังประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ในการดึงดูด FDI โดยมีการประกาศโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 1,826 โครงการ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จาก 1,650 โครงการในปี 2566 ซึ่งถือเป็นจำนวนโครงการลงทุน FDI สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในดูไบ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประเภท Greenfield ในดูไบยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันดูไบครองตำแหน่งผู้นำด้านการลงทุนและเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วน 6.2% ในตลาดโลก และคิดเป็น 55% ของโครงการ FDI ประเภท Greenfield ในตะวันออกกลาง
นาย Helal Saeed Almarri ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวดูไบ (Dubai Department of Economy and Tourism : DET) กล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่าดูไบสามารถดึงดูดเงินทุนอย่างต่อเนื่อง แม้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำที่ชาญฉลาดของผู้ปกครองรัฐ รวมถึงความแข็งแกร่งของผลงานทางเศรษฐกิจและความมุ่งมั่นของรัฐบาลดูไบในการสร้างระบบนิเวศที่พร้อมสำหรับอนาคต การไหลเข้าของเงินทุนใหม่นี้สะท้อนความเชื่อมั่นจากนักลงทุน บริษัทข้ามชาติ และบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลกที่มีต่อระบบนิเวศที่แข็งแกร่งของดูไบ
เมื่อมองไปข้างหน้า ดูไบยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านการแข่งขันระดับโลกผ่านกฎระเบียบที่มองการณ์ไกล ด้านพลังงานที่คุ้มต้นทุน และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระดับโลก ในขณะเดียวกันยังคงสร้างระบบนิเวศที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นเหล่านี้ ดูไบจึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สรุปและความเห็นของ สคต.ดูไบ
ดูไบมีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อประเทศไทยในหลายด้าน ซึ่งอาจมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนี้:
ผลกระทบเชิงบวก
จากการที่ดูไบเป็นศูนย์กลางการลงทุนในตะวันออกกลาง สามารถเปิดโอกาสด้านการลงทุน ให้แก่ประเทศไทยในการเจรจาความร่วมมือกับนักลงทุนและบริษัทต่างชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างโครงการใหม่ๆ โดยใช้ความเป็นเครือข่ายระดับโลกของดูไบช่วยให้บริษัทไทยขยายตลาดไปตะวันออกกลางและยุโรปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากนโยบายและแนวทางที่ดูไบใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสนับสนุนด้านสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจในดูไบสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวจากดูไบมายังประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
ผลกระทบเชิงลบ
การเติบโตของดูไบอาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากดูไบมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน และหากดูไบสามารถสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและมีเสน่ห์มากกว่าประเทศไทย อาจทำให้เกิดการไหลของทรัพยากรที่มีคุณภาพและผู้มีความสามารถจากไทยไปยังดูไบ นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของดูไบมีลักษณะที่โยงใยกับเศรษฐกิจโลกอาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความผันผวนหรือลดลงของการเข้าถึงตลาดต่างประเทศในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
แม้ว่าดูไบจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในโลก การตอบสนองของไทยต่อแนวโน้มนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการดึงดูดการลงทุนในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเศรษฐกิจโลก
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ดูไบ: แชมป์โลกด้านการลงทุนจากต่างชาติ