กระทรวงการคลังไต้หวันเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ว่าการส่งออกของไต้หวันในปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มูลค่ารวม 475.07 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดอันดับสองในประวัติศาสตร์รองจากมูลค่า 479.41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 โดยเกิดจากการส่งออกในเดือนธันวาคม 2567 ที่ขยายตัวดีเกินคาดถึง 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการส่งออกของไต้หวันขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ปัจจัยหลักที่กระตุ้นการส่งออกมาจากความต้องการสินค้าด้านการประมวลผลประสิทธิภาพสูงและปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนวันหยุดเทศกาลตรุษจีนและก่อนการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์
ในบรรดาตลาดหลักของไต้หวัน การส่งออกไปยังจีน (รวมถึงฮ่องกง) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของไต้หวัน ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เหลือเพียง 150.62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สัดส่วนการส่งออกไปยังจีน (รวมถึงฮ่องกง) ลดลงเหลือ 31.7% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 23 ปี โดยไต้หวันได้ดุลการค้ากับจีนและฮ่องกงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ที่ 69.996 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนต่างระหว่างดุลการค้าที่ไต้หวันได้จากจีนและฮ่องกง และดุลการค้าที่ไต้หวันได้จากสหรัฐฯ เหลือเพียง 64.88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนต่างที่น้อยที่สุดในรอบ 32 ปี สะท้อนให้เห็นถึงผลของการลดการพึ่งพาตลาดจีนของไต้หวัน
สำหรับตลาดส่งออกหลักอื่นๆ ของไต้หวัน นั้น สหรัฐฯ และอาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับสองและสาม ด้วยมูลค่าส่งออก 111.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 87.79 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 46.1% และ 15.1% จากปีก่อนหน้า ส่วนยุโรปและญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสี่และห้าตามลำดับ แต่มูลค่าส่งออกไปยังตลาดทั้งสองลดลง 8.6% และ 17.8% ด้วยมูลค่า 38.64 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 25.84 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้น 14.2% เป็น 20.79 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 โดยเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่ไต้หวันมีการขาดดุลการค้ามากที่สุดแทนที่ญี่ปุ่น เนื่องจากเกาหลีใต้กลายเป็น Supplier ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ เช่น ชิปหน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง ให้กับนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในไต้หวัน ในส่วนของการส่งออกไปยังประเทศไทย ในปี 2567 มีมูลค่า 11,836 ล้านเหรียญไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วน 2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน เพิ่มขึ้น 9.0% จากปี 2566 โดยที่ไต้หวันนำเข้าจากไทยในปี 2567 มีมูลค่า 6,228 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 จากปีก่อนหน้า สิ่งที่น่าสนใจคือ ดุลการค้าของไต้หวันกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 83.53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 64.88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกของไต้หวันไปสหรัฐฯ สูงขึ้นถึง 23.4% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 24 ปี ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่ไต้หวันจะกลายเป็นเป้าหมายของการกำหนดกำแพงภาษีจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน รายงานล่าสุดระบุว่าทรัมป์กำลังพิจารณาการประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยใช้พระราชบัญญัติอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (IEEPA) เพื่อผลักดันแผนการกำหนดภาษีของเขา โดยภายใต้กฎหมาย IEEPA ทรัมป์จะสามารถกำหนดอัตราภาษีอย่างรวดเร็ว และหารือเรื่องการกำหนดภาษีกับหน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ
จากการประเมินเบื้องต้นของกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันพบว่าการดำเนินการขึ้นภาษีของทรัมป์อาจจะส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนยานยนต์ เซิร์ฟเวอร์ขั้นสูง แล็ปท็อป และเดสก์ท็อปของไต้หวันไปยังตลาดสหรัฐฯ แม้ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะประกาศการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าหรือไม่ อย่างไร แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ทรัมป์จะใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในเจรจาเพื่อกดดันทางการทูต เช่นเดียวกับในปี 2019 ที่ทรัมป์ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้การอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายของชาวเม็กซิโก แม้การขึ้นภาษีของทรัมป์ที่อาจเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการค้าในตลาดโลก แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้สำหรับไต้หวัน ทั้งนี้ การขึ้นภาษีทุกรายการ (Across-the-board) ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐ และจะเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาและการสืบสวนทางการค้า และมีความเสี่ยงจากการตอบโต้ทางภาษีที่ทรัมป์จากประเทศอื่นๆ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลกและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไต้หวันที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความกังวลเกี่ยวการขึ้นภาษีของรัฐบาลทรัมป์ แต่ธนาคารกลางของไต้หวัน ยังคงเชื่อว่าไต้หวันมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ โดยอ้างอิงจากดัชนีความเสี่ยงของทรัมป์ (Trump Risk Index) ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิ Information Technology & Innovation Foundation (ITIF) ของสหรัฐฯ โดยไต้หวันมีความเสี่ยงสูงเฉพาะในดัชนีด้านดุลการค้า แต่มีความเสี่ยงต่ำในอีกสามด้าน ได้แก่ งบประมาณทางทหาร ความเข้มงวดต่อจีน และนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางไต้หวันชี้ว่า เมื่อพิจารณาสัดส่วนดุลการค้าของไต้หวันกับสหรัฐฯ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คาดว่ารัฐบาลทรัมป์จะพิจารณาสัดส่วนงบประมาณทางทหารต่อ GDP ความสัมพันธ์กับจีน และผลประโยชน์ร่วมกันในนโยบายการค้าต่อสหรัฐฯ ซึ่งความเสี่ยงที่ไต้หวันเผชิญน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ธนาคารกลางไต้หวันยังเห็นว่า ไต้หวันมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ซับซ้อน และทดแทนไม่ได้ ดังนั้น โอกาสในการขึ้นภาษีของทรัมป์ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และ ICT อาจมีจำกัด อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีของทรัมป์อาจทำให้วัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันลดลง สร้างความเสียหายต่อกลุ่มอุตสาหกรรมภายในของไต้หวัน และส่งผลกระทบต่อการส่งออก การลงทุน และการจ้างงาน
ทั้งนี้ ตามสมมติฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าอีก 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมด ประเทศคู่ค้าอาจดำเนินมาตรการตอบโต้ และในสถานการณ์ดังกล่าว การค้าทั่วโลกประมาณหนึ่งในสี่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง และความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกอาจยืดเยื้อไปอีกหลายปี
ที่มา: Taipei Times / CNA (28 December 2024 – 14 January 2025)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
เศรษฐกิจของไต้หวัน สหรัฐฯ และจีนมีความเชื่อมโยงกันสูง หากเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไต้หวัน อ่อนแอลง เศรษฐกิจของไต้หวันก็จะได้รับผลกระทบด้วย การขึ้นภาษีของทรัมป์อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศกังวล อย่างไรก็ดี การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไต้หวันยังคงความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ เหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่ LA อาจทำให้ทรัมป์ จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านกำแพงภาษี เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังวิกฤตไฟป่าผ่านพ้นไป จึงเชื่อว่า ในระยะสั้นนี้ การขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถานการณ์การส่งออกของไต้หวันกับภัยคุกคามด้านภาษีจากรัฐบาลทรัมป์