กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศอินเดียได้ชี้แจงว่าจะไม่มีการออกมาตรการหรือจำกัดในทันทีเกี่ยวกับการนำเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประเภทกลุ่มแล็ปท็อป (Laptop) การออกมาชี้แจงในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการว่าระบบห่วงโซ่อุปทานด้านการจัดหาสินค้าจะไม่สะดุดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีเวลาปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายมากขึ้น ในขณะที่การผลิตในประเทศยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่าการลดการนำเข้าสินค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการผลิตในประเทศซึ่งนำโดยผู้ผลิตหลักอย่างบริษัท HP และ Dell และคาดว่าธุรกิจนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตในปีงบประมาณหน้า
รัฐบาลอินเดียกำลังเปิดตัวโครงการใหม่ที่จะกระตุ้นด้านการเชื่อมโยงของภาคการผลิต (Production-Linked Incentive: PLI) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ไอทีภายในประเทศให้เติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนทางการเงินที่ใหญ่ขึ้นสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างโรงงานผลิตในอินเดีย ให้สอดรับกับแผนทางเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากโครงการก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการของรัฐและมาตรการในการสนับสนุนการพึ่งพาเทคโนโลยีในประเทศ จะช่วยดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตในอินเดีย รวมทั้งเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย “Make in India” และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศได้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลพยายามที่จะดำเนินการตามตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาในอดีตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตสมาร์ทโฟนและฮาร์ดแวร์ โดยนโยบายปัจจุบันจะมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด ปรับสมดุลการนำเข้าและการผลิตในประเทศผ่านระบบการจัดการนำเข้า (Import Management System: IMS) เพื่อสร้างระบบที่แข่งขันได้และดึงดูดผู้เล่นระดับโลกให้สามารถเข้ามาส่งเสริมระบบนิเวศน์ของเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ด้านการนำเข้าคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปและแท็บเล็ต: สำหรับทั้งปี 2568 รัฐบาลอินเดียได้ผ่านอนุมัติการนำเข้าแล้ว โดยอาจมีการทบทวนนโยบายกลางปีเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาด การอนุมัติการนำเข้าเดิมจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2568 เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการตลาด ในขณะที่การผลิตในประเทศยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการลดการนำเข้าแบบค่อยเป็นค่อยไปในอัตรา 5% ต่อปี และตั้งเป้าทดแทนด้วยการผลิตในประเทศภายในกลางปี 2025
2. ความยืดหยุ่นต่อการนำเข้า: แม้ว่าบริษัทและแบรนด์ต่างๆ จะสามารถนำเข้าสินค้าได้ในปี 2025 แต่บริษัทยังคงต้องดำเนินการขอใบอนุมัติการนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามข้อมูล นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมพร้อมปรับเป้าหมายการผลิตในประเทศหรืออนุมัติการนำเข้าเพิ่มเติม หากตลาดมีความต้องการเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นจะเน้นส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ หันมาใช้ภาคการผลิตในประเทศมากขึ้นในระยะยาว
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. เพิ่มโอกาสในห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมไอที: ด้วยการที่อินเดียยังไม่ได้มีข้อจำกัดทันทีในเรื่องการนำเข้า ผู้ส่งออกไทยสามารถวางแผนงานทางธุรกิจเพื่อเป็นซัพพลายเออร์ในที่จัดหาอุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตแล็ปท็อปและฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องให้กับอินเดียได้ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้โอกาสจากการที่อินเดียให้ความสำคัญกับการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น
2. การขยายตัวของภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย: อาจเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่เชี่ยวชาญในวัตถุดิบหรือเทคโนโลยีมีส่วนขยายตลาดเพื่อขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. อย่างไรก็ตาม การเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการอินเดียด้านการผลิตในประเทศ อาจถือว่าเป็นการวางแผนอย่างมีนัยสำคัญเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าในระยะยาว ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับผู้ส่งออกไทย
ข้อคิดเห็น
1. แม้ว่าอินเดียจะผ่านมาตรการการจำกัดการนำเข้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปี 2568 ที่อัตรา 5% ต่อปี และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2568 แต่เพื่อสร้างโอกาสและการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมไอที มาตรการดังกล่าวจึงยังมิได้มีผลบังคับใช้ในทันที โดยรัฐบาลมองว่าบริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการใหม่ที่จะกระตุ้นด้านการเชื่อมโยงของภาคการผลิต (Production-Linked Incentive: PLI) ควรใช้ประโยชน์จากแรงจูงใจทางการเงินดังกล่าวในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลไกตลาด ซึ่งการเพิ่มระบบการจัดการนำเข้า (Import Management System: IMS) จะมีส่วนช่วยคัดกรองสินค้าเชิงคุณภาพและด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ให้กับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี มาตรการหรือข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เคยมีการประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 และถูกเลื่อนประกาศใช้ออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2566
2. ในปี 2566 อินเดียนำเข้าสินค้า คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พิกัด 84713010) จากทั้งโลกมูลค่า 4.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นสัดส่วนของตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน (59.53 %) สิงค์โปร (10.17 %) และฮ่องกง (4.63 %) ตามลำดับ ในขณะที่ ประเทศเป็นตลาดนำเข้าสินค้าดังกล่าวอันดับที่ 17 ด้วยมูลค่า 116,382 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 306.4 % จากปี 2565 แต่สัดสัดส่วนของตลาดยังน้อยกว่า 1 % ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาดังกล่าวที่อินเดียยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ในการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าด้านอุตสาหกรรมการส่งออกชิ้นส่วนไอที หรือการใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งการร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจะมีส่วนช่วยให้เป้าหมายทางธุรกิจสามารถบรรลุได้อย่างมีประสิทธิผล
ที่มา: 1. https://economictimes.indiatimes.com/news/economy/foreign-trade/india-not-planning-to-curb-laptop-imports-immediately-it-secretary-says/articleshow/116991655.cms
2.https://economictimes.indiatimes.com/industry/cons-products/electronics/for-2025-govt-presses-enter-for-laptop-imports/articleshow/116775913.cms?utm_source=contentofinterest&utm_medium=text&utm_campaign=cppst
อ่านข่าวฉบับเต็ม : อินเดียยังไม่มีแผนที่จะจำกัดการนำเข้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในทันที