ภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ทางรัฐบาลแคนาดาต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิดว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้า (Tariff) สินค้าจากแคนาดาไปสหรัฐฯ ในรูปแบบใดบ้าง โดยหากอิงตามคำขู่ของทรัมป์ที่ว่า สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกทุกรายการร้อยละ 25 มีผลตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลมาจากเรื่องของการขาดดุลการค้า ปัญหาคนอพยพข้ามพรมแดน และยาเสพติดในสหรัฐฯ
ในการนี้ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ออกมาแถลงย้ำเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) ว่า รัฐบาลแคนาดาพร้อมตอบสนองทุกสถานการณ์หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดา โดยจะตอบโต้ภาษีทางการค้าแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน (tit-for-tat) คือ สหรัฐฯ ขึ้นภาษีกับสินค้าแคนาดามูลค่าเท่าไร แคนาดาก็จะขึ้นภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ ในมูลค่าเท่ากัน ทำให้ภาคเอกชนหลายฝ่ายอยู่ในความหวาดหวั่นจากการตอบโต้ครั้งนี้
จากสถิติการค้าระหว่างประเทศแคนาดา เผยมูลค่าการค้าระหว่างกันกับสหรัฐฯ ในปี 2566 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/วัน โดยสินค้านำเข้าส่งออกหลักอยู่ในกลุ่มพลังงาน น้ำมัน เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยแคนาดาส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ของการส่งออกทั้งหมด และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 50 ของการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ แคนาดาได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ในปี 2566 แคนาดาได้ดุลการค้าราว 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำขู่การขึ้นภาษีของทรัมป์ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับภาคธุรกิจของแคนาดาอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มภาคพลังงานและรถยนต์ เนื่องจากการที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของแคนาดา รวมถึงการจ้างงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมนั้นๆ อาจได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดการจ้างงาน โดยลดขนาดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตออกไปจากแคนาดา
นอกจากความกังวลปัญหาการว่างงานแล้ว อีกหนึ่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแคนาดาจะเผชิญคือ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนาย Matt Poirier รองประธานสมาคมค้าปลีกในแคนาดา กล่าวถึงการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จะทำให้ราคาจำหน่ายสินค้าในประเทศปรับขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนกลายเป็นภาระของผู้บริโภคแคนาดา ซึ่งกลุ่มสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันที่จะมีราคาแพงขึ้น 10 รายการต้นๆ ได้แก่ (1) อาหารเช้าซีเรียล (2) เครื่องสำอาง (3) น้ำผลไม้ (4) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (5) รถยนต์ (6) ผักและผลไม้สด (7) อาหารทะเล (8) เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้า (9) ค่าสมัครบริการ Amazon Pime และ Netflix (10) ดอกไม้และช็อกโกแลต เนื่องจากแคนาดานำเข้าสินค้าเหล่านั้นจากสหรัฐฯ เป็นหลัก
เมื่อไม่นานมานี้ นายทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ประชุมหารือกับผู้ว่าการรัฐทั้ง 10 รัฐ เพื่อกำหนดท่าทีต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และร่วมพิจารณาบัญชีรายชื่อสินค้าเป้าหมาย โดยอาจจะเริ่มขึ้นภาษีสินค้าเฉพาะเจาะจงบางรายการก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มรายการสินค้าต่อไป
แม้นายทรูโดและผู้ว่าการรัฐต่างๆ จะยืนยันว่า รัฐบาลกลางและรัฐบาลแต่ละรัฐจะร่วมทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่นางแดเนียล สมิธ ผู้ว่าการรัฐอัลเบอร์ตา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำคัญ กลับไม่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วม เพราะคัดค้านแนวคิดที่แคนาดาจะจำกัดการส่งออกน้ำมันไปสหรัฐฯ และอาจทำให้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น โดยนางแดเนียลฯ กล่าวถึงความจำเป็นที่ปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานในรัฐอัลเบอร์ตาเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการรัฐต่างๆ ได้ออกมารณรงค์ให้ประชากรในรัฐเลิกซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น นายดักก์ ฟอร์ด ผู้นำรัฐออนทาริโอ และนายเดวิด อีบีย์ ผู้นำรัฐบริติชโคลัมเบีย ได้ออกมากล่าวรณรงค์ให้ประชากรในรัฐเลิกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหรัฐฯ และยกเลิกการจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ
ข้อคิดเห็นสคต. แม้แคนาดาจะมีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกันกับสหรัฐฯ กล่าวคือ การค้าขายสินค้าระหว่างกันจะไม่เก็บภาษีสินค้ากัน ทว่า เมื่อทรัมป์ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว และขู่ว่าจะเพิ่มการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดา ก็ถือเป็นมาตรการที่ผู้นำสหรัฐฯ สามารถออกคำสั่งและพึงกระทำได้ทันที ซึ่งหากสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีตามที่กล่าวไว้ จะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกของแคนาดาในวงกว้าง อย่างไรก็ดี จากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในวันนี้ ย่อมเปิดโอกาสให้แคนาดาจำเป็นต้องหาคู่ค้าจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ ดังนั้น ไทยจึงอาจใช้โอกาสนี้ในการหาความพร้อมในการทำงานร่วมกับแคนาดาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป
โดย…สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แคนาดาประกาศเตรียมตอบโต้สหรัฐฯ หลังเก็บภาษีนำเข้า 1 ก.พ. นี้