“พิชัย” นำทัพซอฟต์พาวเวอร์บุกโตเกียว โปรโมตผ่าน มังงะ-กาจาปอง-กิโมโนผ้าไทย จำหน่ายทั่วญี่ปุ่น พร้อมขึ้นป้ายกลางชิบูย่า คาด 72 ล้านคนเห็นสินค้าไทยก่อนปีใหม่
วันที่ 23 ธันวาคม 2567
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ณ Daikanyama T-Site กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจ จำนวน 3 กิจกรรม ประกอบด้วยบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP กับบริษัท MIARAWASHIYA LLC ในการเผยแพร่ Soft Power ไทยผ่านมังงะ (การ์ตูน) ญี่ปุ่น DITP และกับบริษัท KENELEPHANT Co., Ltd. ในการจำหน่ายและเผยแพร่ Soft Power ไทยผ่านตู้กาจาปอง(ไข่หยอดเหรียญ) และบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ SACIT กับบริษัท OMITA ในการใช้ผ้าไทยภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผลิตกิโมโนจำหน่ายทั่วประเทศญี่ปุ่น
นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้มีการลงนามบันทึกความตกลงและบันทึกความเข้าใจ รวม 3 ฉบับระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับทางญี่ปุ่น เชื่อมโยงวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นเข้ากับไทย จะมีสินค้าไทยเข้าไปอยู่ในกาจาปองของญี่ปุ่น 5 รายการสินค้า (น้องมะม่วง เบียร์ช้าง มาม่า เงาะกระป๋อง และรถไฟไทย) สอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปในการ์ตูนมังงะ และใช้ผ้าไทยมาทำชุดกิโมโนของญี่ปุ่น ช่วยสร้างการรับรู้สินค้าและวัฒนธรรมไทย
ส่วนเรื่องธุรกิจหรือการลงทุนใหญ่ๆ ที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทย ตนและผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสพบกับนักการเมืองระดับสูงของประเทศญี่ปุ่น 2 ท่าน คือ H.E. Mr. HAYASHI Yoshimasa, Chief Cabinet Secretary และ Mr.Taro KONO สส.จังหวัดคานางาวะ อดีตรัฐมนตรีดิจิทัลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในญี่ปุ่น ที่ทางญี่ปุ่นกำลังจะมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจะทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านล้านเยน หรือ 2.2 ล้านล้านบาท อยากให้ไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนของญี่ปุ่นในครั้งนี้ โดยเฉพาะในอนาคตที่ไทยจะสามารถผลิต PCB เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถเชื่อมโยงกับทางไทยได้
ผลสำเร็จจากการเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ดีกว่าที่คาดหวังไว้เยอะมาก ตนได้พบนักธุรกิจ นักลงทุน นักวิชาการและสื่อของญี่ปุ่น ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต นักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่หลายบริษัทก็มีแสดงความพร้อมที่จะมาลงทุนที่ไทยรู้สึกดีใจว่ามาในครั้งนี้แนวโน้มการลงทุนดี เชื่อว่าญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นแชมป์การลงทุนของไทยอย่างแน่นอน คนญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทยก็มีความรู้สึกเหมือนบ้านชื่นชอบที่จะอยู่เมืองไทยเพราะวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกันในทุกระดับ
และในการมาญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้ถือโอกาสประชุมกับทูตพาณิชย์ของไทยในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยในปีหน้า ปีนี้การส่งออกของไทยมาญี่ปุ่นและเกาหลีลดลงนิดหน่อย เพราะญี่ปุ่นและเกาหลีค่าเงินค่อนข้างต่ำทำให้สินค้าที่นำเข้าแพงขึ้นจึงมีปัญหาในเรื่องของการส่งออก และได้พบกับ นางพิมพ์ใจ มัตสึโมโต ผู้แทนกิติมศักดิ์ของกระทรวงพาณิชย์ประจำญี่ปุ่น หรือ HTA และผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นผู้นำเข้าผลไม้จากไทยของญี่ปุ่น แจ้งว่ากล้วยหอมของไทยขายดีมาก ไทยควรเร่งผลิตกล้วย และการปลูกกล้วยกับมันสำปะหลังก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การที่เราส่งเสริมให้คนไทยปลูกกล้วยมาส่งญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ตนจะกลับไปคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เพื่อมาโปรโมตกล้วย เพราะประเทศญี่ปุ่นกินกล้วยปีละเป็น 1,000,000 ตัน โดยได้ให้กรมการค้าภายในไปคำนวณรายได้จากการปลูกกล้วยกับมันสำปะหลังต่างกันอย่างไร พบว่า รายได้จากการปลูกมันสำปะหลัง อยู่ที่ปีละ 8,000 บาทต่อไร่ แต่กล้วยสามารถสร้างรายได้ถึงปีละ 100,000 บาทต่อไร่ เพื่อให้เกษตรกรไทยพิจารณาเลือกปลูก อยากให้เกษตรกรไทยปลูกกล้วยมาขายให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้นายพิชัยได้ประชาสัมพันธ์ยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าและบริการไทย (Think Thailand – Next Level) ณ ห้าแยกชิบูย่า ย่านที่พลุกพล่านที่สุดหนึ่งในแลนด์มาร์กของกรุงโตเกียว โดยเป็นกิจกรรมการฉายคลิปเนื้อหาสินค้าและบริการไทย ฉายทุก 10 นาที ความยาว 30 วินาที ผ่านบิลบอร์ดบนอาคาร ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน เริ่มวันที่ 30 พฤศจิกายน-29 ธันวาคม 2567 เป็นจุดไฮไลท์ที่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะเดินทางผ่านจุดนี้ คาดจะเกิดการมองเห็น 2.4 ล้านคนต่อวัน หรือกว่า 72 ล้านคน ภายใน 1 เดือนด้วย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : “พิชัย” นำทัพซอฟต์พาวเวอร์บุกโตเกียว โปรโมตผ่าน มังงะ-กาจาปอง-กิโมโนผ้าไทย จำหน่ายทั่วญี่ปุ่น พร้อมขึ้นป้ายกลางชิบูย่า คาด 72 ล้านคนเห็นสินค้าไทยก่อนปีใหม่