หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > เม็กซิโกต้อนรับผู้นำหญิงคนแรก : คลอเดีย เชนบาม

เม็กซิโกต้อนรับผู้นำหญิงคนแรก : คลอเดีย เชนบาม

ประวัติศาสตร์ใหม่ของเม็กซิโกได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ นางคลอเดีย เชนบาม (Claudia Sheinbaum) นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและอดีตนายกเทศมนตรีของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ขึ้นรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 66 และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ โดยนางคลอเดียชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น พร้อมความคาดหวังอันเปี่ยมล้นจากประชาชนและความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

ประวัติของผู้นำหญิงคนใหม่ การขึ้นเป็นประธานาธิบดีของนางคลอเดียในวัย 62 ปี ไม่เพียงแต่เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศอนุรักษ์นิยมที่อยู่ภายใต้การนำของผู้ชายมากว่า 2 ศตวรรษ แต่ยังเป็นความภูมิใจในมรดกทางเชื้อชาติยิวของเธอด้วย โดยคุณปู่คุณย่าของเธอเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากลิทัวเนียและบัลแกเรีย ความสำเร็จของนางคลอเดียในครั้งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมเม็กซิโกที่กำลังเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างได้แม้ประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสต์นิกายคาทอลิกและมีชาวยิวไม่ถึง 1%

การศึกษาและการทำงาน นางคลอเดียจบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ ปริญญาโทและเอกด้านวิศวกรรมพลังงาน จากมหาวิทยาลัย National Autonomous University of Mexico (UNAM) โดยทำงานวิจัยที่สถาบัน Lawrence Berkely National Laboratory ในแคลิฟอร์เนีย  และในปี 1995 ทำงานเป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย UNAM

ด้านการเมือง นางคลอเดียเริ่มเข้าสู่การทำงานการเมืองในปี 2000 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของกรุงเม็กซิโกในสมัยที่อดีตประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงเม็กซิโก ซึ่งเธอได้ดำเนินนโยบายและสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ การส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเม็กซิโกเป็นระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น  การรณรงค์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ การวางนโยบายและดำเนินโครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการใช้ความเชี่ยวชาญของนางคลอเดียในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศของกรุงเม็กซิโกได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี หลังจาก นายโอบราดอร์ พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี นางคลอเดียกลับเข้าสู่การทำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัย UNAM และเธอได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ  (The United Nations Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้วางนโยบายของรัฐจากหลายประเทศ โดยหนึ่งในนั้นมีอดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาผลงานด้านมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคณะกรรมการดังกล่าวได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2007

ในปี 2015 นางคลอเดียกลับสู่งานการเมืองอีกครั้งในฐานะนายกเทศมนตรีของเมือง Tlalpan ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในกรุงเม็กซิโก โดยมีผลงานหลัก เช่น การกำหนดสิทธิในการใช้น้ำและการจัดสรรการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม เนื่องจากหลายพื้นที่ในเขตกรุงเม็กซิโกประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจึงมีความจำเป็นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างเหมาะสม ในปี 2018 นางคลอเดียได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีของกรุงเม็กซิโก และยังคงดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น การขยายพื้นที่กักเก็บน้ำฝน การจัดการของเสีย โครงการลดการตัดไม้ทำลายป่า และการปรับโครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ในปี 2023 นางคลอเดียตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประธาธิบดีโอบราดอร์ และในเดือนมิถุนายน 2024 ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนโหวตอย่างท่วมท้น กลายเป็นประธาณาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก

ความท้าทายต่อจากนี้ ในฐานะผู้ที่ทำงานการเมืองอย่างใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีโอบราดอร์นางคลอเดียถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้สืบทอดนโยบายทางการเมือง” จากนายโอบราดอร์ ดังนั้น เธอต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างตัวตนทางการเมืองที่จะไม่ถูกผูกโยงกับประธานาธิบดีคนก่อน ทั้งนี้ แม้ว่านางคลอเดียได้ประกาศที่จะสานต่อนโยบายของนายโอบราดอร์ในเรื่องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น นโยบายการการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการสร้างงาน เพื่อขจัดความยากจนของประชาชน อย่างไรก็ดี นางคลอเดียได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายด้านพลังงานที่ต่างจากอดีตประธานธิบดีโอบราดอร์ ที่มีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ในขณะที่นางคลอดเดียปฏิเสธที่จะสานต่อนโยบายดังกล่าวและเลือกที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก/พลังงานหมุนเวียนที่ไม่สร้างมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องรอดูว่าจะมีการประกาศนโยบายอื่นๆ ที่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนตามมาอีกหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหางบประมาณขาดดุลที่นับเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของนางคลอเดีย เนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนใช้งบประมาณจำนวนมากในโครงการด้านสังคม การลงทุนในโปรเจคขนาดใหญ่ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน Dos Bocas ในรัฐ Tabasco ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งจากเดิมที่มีกำหนดการเริ่มกระบวนการผลิตในปี 2022  ก็ถูกเลื่อนออกไป และปัจจุบันคาดว่าจะต้องรอจนถึงปี 2026 กว่าที่โรงกลั่นน้ำมันดังกล่าวจะเปิดดำเนินการและมีปริมาณผลผลิตน้ำมันที่มีสเถียรภาพและอยู่ในระดับที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศบางส่วนได้ และยังมีโปรเจคการสร้างรถไฟเชื่อมเมืองท่องเที่ยว 5 รัฐ (Chiapas, Tabasco, Campeche, Yucatán and Quintana Roo) รวมระยะทาง 1,545 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก

อีกหนึ่งความท้าทายที่นางคลอเดียต้องเผชิญคือการเปลี่ยนแปลงระบบตุลาการภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลงานสำคัญก่อนที่นายโอบราดอร์จะพ้นจากตำแหน่ง โดยจากเดิมผู้พิพากษาจะได้มาจากการแต่งตั้งเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งจากรายชื่อที่เสนอโดยสภาคองเกรส การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สร้างเสียงวิจารณ์และความกังวลในสังคมอย่างกว้างขวางว่าจะทำให้ระบบตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจของประธานาธิบดีอ่อนแอลง ดังนั้น นางคลอเดียจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับประชาชนในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศว่าการปฏิรูประบบตุลาการดังกล่าวจะทำให้เกิดความโปร่งใสในระบบการเมืองการปกครองของเม็กซิโกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างมากต่อเม็กซิโก ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า สังคม และการเมือง ซึ่งที่ผ่านสหรัฐฯ กดดันให้เม็กซิโกเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องการแก้ปัญหาการลักลอบเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายของผู้อพยพจากฝั่งเม็กซิโกซึ่งมีทั้งชาวเม็กซิกันและผู้อพยพจากประเทศอื่น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่านางคลอเดียจะดำเนินนโยบายที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอย่างเต็มที่ในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยให้เม็กซิโกสามารถเจรจาประเด็นสำคัญอื่นๆ กับสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้น เช่น การเจรจายกระดับความตกลงทางการค้า สหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก- แคนาดา (USMCA) อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ว่านโยบายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะเป็นไปในทิศทางใด

จากประสบการณ์ทำงานทั้งในวงการศึกษาวิจัยและการเมืองอันยาวนาน ทำให้ทั้งชาวเม็กซิกันและนักลงทุนต่างชาติจับตามองว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนางคลอเดียจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและนำพาเม็กซิโกไปสู่การเติบโตตามความคาดหวังของประชาชนได้หรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงเม็กซิโก จะติดตามและรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ของเม็กซิโกต่อไป

——————————————————————

ที่มา

– Mexican Presidency (https://www.gob.mx/presidencia)

– El Economista (https://www.eleconomista.com.mx/politica/claudia-sheinbaum-rinde-protesta-presidenta-constitucional-mexico-20241001-728178.html)

อ่านข่าวฉบับเต็ม : เม็กซิโกต้อนรับผู้นำหญิงคนแรก : คลอเดีย เชนบาม

Login