หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ช่องทางค้าปลีกพุ่งแรงในสิงคโปร์

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ช่องทางค้าปลีกพุ่งแรงในสิงคโปร์

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการค้าปลีกในประเทศสิงคโปร์ จากวิถีชีวิตที่เร่งรีบและความต้องการความสะดวกสบายของชาวสิงคโปร์ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจึงเติบโตอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีการสัญจรสูงและบริเวณที่มีร้านค้าจำกัด เช่น สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ รวมถึงตำแหน่งที่สะดวกในจุดต่างๆ ของสิงคโปร์ เช่น ชั้นล่างของอาคารที่พัก HDB และศูนย์การค้า

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ผู้คนคุ้นเคยจะจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหาร ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม แต่ปัจจุบันรูปแบบการจำหน่ายสินค้าในตู้อัตโนมัติมีพัฒนาการไกลมากขึ้น สินค้าที่จำหน่ายมีหลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและการดูแลตัวเอง ปลาแซลมอนแช่แข็ง ไปจนถึงทองคำและรถยนต์หรู นอกจากนี้ ตู้จำหน่ายสินค้าในอดีตมักจะรองรับการชำระเฉพาะเงินสด แต่เมื่อชาวสิงคโปร์หันมาใช้ระบบการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดมากขึ้น ตู้จำหน่ายสินค้ารุ่นใหม่จึงรองรับวิธีการชำระเงินแบบต่าง ๆ เช่น GrabPay, PayNow, PayLah! และบัตรเครดิต ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากขึ้น

ในปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจำนวนมากที่เติบโตในช่วงโควิด
-19 คิดหาวิธีขยายแบรนด์และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยการจำหน่ายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติเป็นหนึ่งในช่องทางดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง ดังนี้

แพลตฟอร์มซูเปอร์มาร์เก็ต RedMart ภายใต้ Lazada ได้ติดตั้งเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอัจฉริยะ 5 เครื่อง ที่สถานีรถไฟฟ้าสถานี Raffles Place โดยจำหน่ายสินค้า เครื่องดื่มและของว่างต่างๆ เช่น น้ำ ชาหมัก (Kombucha) ธัญพืชรวม รวมถึง ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจากแบรนด์ Monday ทั้งนี้ ลูกค้าที่ซื้อของจากเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของ RedMart จะต้องใช้แอป Lazada ในการชำระเงินค่าสินค้าที่ซื้อ โดยสินค้าจะมีราคาเท่ากับที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ร้านค้าออนไลน์ SGPomades ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผมชาย ได้เริ่มจำหน่ายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติเพื่อส่งเสริมการขายและสร้างการรับรู้แบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของทางร้าน การใช้ตู้อัตโนมัติยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบัน ทางร้านมีตู้จำหน่ายสินค้าทั้งหมด 14 ตู้

ร้านอุปกรณ์กีฬาออนไลน์ Sparton Sports มีความเห็นว่า ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นช่องทางค้าปลีกที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำสำหรับธุรกิจออนไลน์ ช่วยให้ร้านมีหน้าร้านโดยไม่ต้องลงทุนสูง ทางร้านจึงใช้ตู้อัตโนมัติเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของร้าน

ร้านสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง All With Love มองว่า ตู้อัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการทำตลาดมากกว่าจะสร้างกำไร ถึงแม้จะขาดทุนจากการใช้ตู้อัตโนมัติเนื่องจากค่าเช่าและค่าสถานที่ซึ่งอยู่ที่ 1,200-1,600 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน แต่ยอดขายออนไลน์ของร้านกลับเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากติดตั้งตู้แรกในห้างสรรพสินค้าเมื่อเดือนตุลาคม 2566

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ยอดขายสินค้าจากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในสิงคโปร์ ปี 2566 อยู่ที่ 113.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ดังนั้น การจำหน่ายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการค้าปลีกที่น่าสนใจในตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความสะดวกสบาย และช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนค่าเช่าพื้นที่และแรงงาน

ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาการค้าปลีกผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ โดยทำการวิจัยตลาดเพื่อเลือกประเภทสินค้าที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงตำแหน่งและสถานที่ตั้งของตู้เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย รวมถึงใช้ตู้อัตโนมัติที่รองรับการชำระเงิน

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :

Euromonitor

https://www.straitstimes.com/singapore/redmart-vending-machines-open-in-raffles-place-mrt-station-in-initiative-to-test-new-retail-formats?_gl=1*orflub*_gcl_au*NDMxMDExMjk0LjE3MjU4NDQ1NTM.

https://www.straitstimes.com/singapore/consumer/online-retailers-turn-to-vending-machines-to-boost-sales-market-themselves-in-singapore?_gl=1*orflub*_gcl_au*NDMxMDExMjk0LjE3MjU4NDQ1NTM.

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ช่องทางค้าปลีกพุ่งแรงในสิงคโปร์

Login