หน้าแรกTrade insightข้าว > ปี 2567 เกษตรกรอิตาลีกลับมาลงทุนปลูกข้าวอีกครั้ง หลังเผชิญวิกฤติยาวนาน 3 ปี

ปี 2567 เกษตรกรอิตาลีกลับมาลงทุนปลูกข้าวอีกครั้ง หลังเผชิญวิกฤติยาวนาน 3 ปี

กรมการข้าวแห่งชาติอิตาลี (Ente Nazionale Risi) เปิดเผยว่า หลังจากที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีต้องเผชิญกับวิกฤติสภาพอากาศที่ไม่แน่น่อน และสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีค่อย ๆ หันไปดำเนินการเกษตรกรรมอื่นแทน อย่างไรก็ตาม กรมการข้าวแห่งชาติอิตาลี คาดการณ์ว่า ปี 2567 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีจะค่อย ๆ กลับมาปลูกข้าวอีกครั้ง เห็นได้จากการฟื้นตัวของพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 เฮกตาร์ หรือโตเติบเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยมีการประมาณการพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดที่ 218,000 เฮกตาร์ แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักหากเทียบกับปี 2553 ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้น 250,000 เฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าว 250,000 เฮกตาร์ ถือเป็นปริมาณพื้นที่ที่จำเป็นในการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมข้าวในประเทศได้อย่างสูงสุด
ทั้งนี้ ข้าวถือเป็นธัญพืชที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในโลก อิตาลีถือเป็นผู้ผลิตข้าวรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป โดยปี 2565 อิตาลีมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 227,300 เฮกตาร์ และปลูกข้าวมากกว่า 200 สายพันธุ์ ผู้ผลิตข้าวกว่า 85% รวมตัวกันอยู่ทางภาคเหนือของอิตาลี โดยเฉพาะในพื้นที่ระหว่างแคว้นปีเอมอนเต และแคว้นลอมบาร์เดีย ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Rice valley” โดยเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อในอิตาลีอย่าง “รีซอตโต้” ถือเป็นพันธุ์ข้าวเฉพาะกลุ่มที่นิยมปลูกกระจุกตัวอยู่ระหว่างเมืองปาเวีย โนวาร่า และแวร์เชลลี นอกจากนี้ อิตาลียังคงเป็นผู้ผลิตข้าวชั้นนำของยุโรป โดยครองตลาดมากกว่า 50% ของตลาดข้าวทั้งหมดในยุโรป โดยในปี 2567 คาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง

สำหรับแนวโน้มความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีเพิ่มการหว่านเมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น โดยช่วงต้นปี 2567 ราคาของข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ในอิตาลี หดตัวลงประมาณ 10% และปี 2566 ราคาหดตัวลงมากกว่า 30% ในขณะที่การนำเข้าข้าวยังคงถูกกดดันจากความตึงเครียดด้านการขนส่ง การปิดกั้นเส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอซ และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวที่นำเข้าอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีได้มีการลงทุนปลูกข้าวพันธุ์ชนิดเม็ดยาว A (long A) เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 11% และพันธุ์ชนิดเม็ดกลม (round) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% ในขณะที่ สำหรับข้าวพันธุ์ชนิดเม็ดยาว B (long B) มีการลงทุนลดลงอยู่ที่ประมาณ 18% ซึ่งถือเป็นพันธุ์ข้าวที่มีการแข่งขันโดยตรงกับข้าวที่นำเข้าจากเอเชีย ในส่วนของปัญหาการแข่งขันจากการนำเข้าข้าวต้นทุนต่ำเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ซึ่งอิตาลีได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ของปริมาณนำเข้าข้าวจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจากกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการได้รับสิทธิพิเศษเป็นการทั่วไปในการยกเว้นภาษีนำเข้า หรือ GSP (Generalised Scheme of Preferences) ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2543 (ค.ศ. 2000) ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่สหภาพยุโรปให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ภายใต้โครงการ (Everything But Arms: EBA) แต่ก็พบว่า หลายประเทศต้นทางที่ได้รับสิทธิดังกล่าวไม่ได้เคารพต่อการใช้กฎการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานในอุตสหากรรมข้าวมากนัก ซึ่งประธานคณะมนตรียุโรปมีข้อเสนอให้มีการเจรจาอย่างประนีประนอม และเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการ Safeguard ซึ่งอิตาลีไม่เห็นด้วย
ในส่วนของอุตสาหกรรมข้าวอิตาลี Mr. Pietro Milani ผู้อำนวยการสมาคมโรงสีข้าวแห่งชาติ (AIRI) ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีให้มีความเชื่อมั่นต่อภาคอุตสาหกรรมข้าวอีกครั้ง หลังจากที่เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ในปี 2565 ซึ่งได้สร้างความเสียหายและความเสี่ยงที่การปลูกข้าวจะค่อย ๆ หายไป โดยในขณะนี้ อุตสาหกรรมข้าวกำลังลงทุนร่วมกับเกษตรกร เพื่อปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ ซึ่งเกษตรกรต้องเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สำหรับการนำเข้าข้าว Mr. Milani เน้นย้ำว่า การผลิตข้าวในสหภาพยุโรปเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน เนื่องจากการบริโภคข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ พื้นที่ผิวน้ำกลับลดลง การขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 60% จาก 40% เทียบกับหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่แท้จริง คือ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวบรรจุห่อเรียบร้อย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของข้าวทั้งหมด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะลดบทบาทของอุตสาหกรรมข้าว และการนำเข้าข้าวของยุโรปซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งนำเข้าโดยอิตาลี

Ms. Natalia Bobba ประธานกรมการข้าวแห่งชาติอิตาลี เปิดเผยว่า การที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความต้องการที่จะกลับมาลงทุนในการปลูกข้าวอีกครั้ง กรมการข้าวแห่งชาติได้วางแผนเตรียมจัดประชุมร่วมกับสมาคมชลประทาน เพื่อประเมินความพร้อมของน้ำ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤติน้ำครั้งใหม่ที่เกษตรกรเคยประสบในปี 2565 โดยการเข้ามารับตำแหน่งประธานคนใหม่ของกรมการข้าวแห่งชาติอิตาลีในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมข้าว และการขอรับเงินอุดหนุนอีกครั้งในสหภาพยุโรป โดย Ms. Bobba ได้เปิดเผยว่า การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการผลิตจาก CAP (Common Agricultural Policy) ในปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 330 ยูโรต่อเฮกตาร์ ซึ่งมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับการสนับสนุนที่ผ่านมา โดย CAP ของสหภาพยุโรป ถือเป็นหน่วยงานที่มีความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรรมกับประชาสังคม และระหว่างยุโรปกับเกษตรกร ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตร ปกป้องเกษตรกรในสหภาพยุโรปให้สามารถดำรงชีวิตอย่างสมดุล ช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รักษาพื้นที่ชนบทและภูมิทัศน์ทั่วสหภาพยุโรป รักษาเศรษฐกิจในชุมชนให้คงอยู่ โดยการส่งเสริมงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. จากข้อมูลตัวเลข Global Trade Atlas พบว่า ปี 2566 อิตาลีนำเข้าข้าว (HS Code 1006) จากทั่วโลกมีมูลค่าทั้งสิ้น 303.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 14.21% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของอิตาลี อันดับ 3 มีมูลค่า 23.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16.01% (รองจาก ปากีสถาน มูลค่า 113.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว +24.69% และอินเดีย มูลค่า 40.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว +88.51%) โดยนำเข้าข้าวหอมมะลิและข้าวขาว (HS Code 100630) มากที่สุด มูลค่า 20.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38.64% ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคท้องถิ่น ด้วยเม็ดข้าวที่มีความนุ่ม หอม อร่อย แต่ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้าวหอมและข้าวชนิดอื่นจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะข้าวจากเมียนมา และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา สหภาพยุโรประงับสิทธิ GSP จากทั้ง 2 ประเทศ เป็นเวลา 3 ปี ส่งผลให้ในปี 2566 อิตาลีนำเข้าข้าวจากเมียนมา และเวียดนาม ลดลงอย่างเห็นได้ชัด (-76.74% และ -76.54% ตามลำดับ) อีกทั้งไทยยังได้อานิสงส์จากการงดส่งออกข้าวขาวของอินเดีย (ไม่รวมข้าวบาสมาติ) ทำให้ปี 2566 ข้าวไทยขยายตัวในตลาดอิตาลีอย่างมาก และคาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 แต่ในปี 2568 หากทั้งสองประเทศได้รับสิทธิ GSP อีกครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไปโดยเฉพาะชาวเอเชียและชาวต่างชาติซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในอิตาลี (ปี 2566 มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในอิตาลี 5,141,341 คน ในจำนวนนี้ เป็นชาวเอเชีย 1,181,236 คน และชาวแอฟริกา 1,151,433 คน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่บริโภคข้าว) รวมถึงร้านอาหารไทยและร้านอาหารเอเชียที่เปิดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้ข้าวไทยขยายตัวได้ดีในอิตาลี
3. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวของอิตาลีประสบกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติภัยแล้ง เงินเฟ้อที่มีอัตราสูง และราคาปุ๋ยแพง รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างยูเครน-รัสเซีย และความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งยังคงไม่มีทีท่าที่จะสงบในเร็ววัน หากเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวยังคงยืดเยื้ด รวมถึงภัยธรรมชาติที่ยังคาดคะเนไม่ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาหรือไม่ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อิตาลีจำเป็นต้องขยายการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ จึงนับเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกข้าวมายังอิตาลีได้เพิ่มขึ้น
——————————————————————-
ที่มา: 1. Riso, dopo tre anni di crisi i coltivatori tornano a investire – Il Sole 24 ORE 2. กรมการข้าวแห่งชาติอิตาลี (Ente nazionale risi)

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ปี 2567 เกษตรกรอิตาลีกลับมาลงทุนปลูกข้าวอีกครั้ง หลังเผชิญวิกฤติยาวนาน 3 ปี

Login