หน้าแรก › แนวโน้มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic) ในอิตาลี

แนวโน้มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic) ในอิตาลี

รายงานแนวโน้มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic) ในอิตาลี

แนวโน้มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic) ในอิตาลี

1. ข้อมูลทั่วไปเกษตรอินทรีย์
ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ European Green Deal มีเป้าหมายเพื่อทำให้สหภาพยุโรปเป็นกลางในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อันเป็นผลพวงมาจากการทำเกษตรกรรมปศุสัตว์และประมงอินทรีย์จึงมีบทบาทสำคัญและความชัดเจนยิ่งขึ้นในการเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ดังกล่าว เพราะเกี่ยวข้องกับการช่วยลดมลพิษในชั้นบรรยากาศ น้ำและดิน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรปมีแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาการผลิตเชิงอินทรีย์ที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายการขยายพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ในยุโรปให้ถึง 25% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ภายในปี 2573
อาหารที่สามารถติดฉลากและประชาสัมพันธ์ว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” ได้ ก็ต่อเมื่อส่วนผสมอย่างน้อย 95% ที่นำมาผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดตามรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ที่อาศัยเทคนิคการเพาะปลูกและการปรับปรุงพันธุ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการตรวจสอบโดยระบบควบคุมของสหภาพยุโรปตั้งแต่เมล็ดไปจนถึงผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ การแยกพื้นที่การทำเกษตรและปศุสัตว์ออกต่างหาก โรงงานแปรรูป คลังสินค้า และบรรจุภัณฑ์ ที่แต่ละขั้นตอนต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง และมีข้อมูลอ้างอิงที่นำไปสู่การตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ ดังนั้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเคารพต่อระบบนิเวศอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาครบวงจรที่ยั่งยืน และยังช่วยประหยัดด้วยการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถรีไซเคิล(เศษผักและสัตว์) โดยนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดสำหรับปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน
2. พื้นที่และผู้ประกอบการ
> ในปี 2565 ครอบครัวชาวอิตาลี 89% ซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่คงที่เมื่อเทียบกับปี 2564 ในขณะที่ชาวอิตาลี 6 ใน 10 ราย บริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขนาดของตลาดในประเทศส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคบางอย่าง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น อาหารเกษตรอินทรีย์จึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่ฟื้นตัวจากโรคระบาดได้เป็นอย่างดี
> พื้นที่เกษตรอินทรีย์อิตาลีมี 2,349,880 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มีพื้นที่ 2,186,570 เฮกตาร์) และมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านเฮกตาร์ (+111%) เมื่อเทียบกับปี 2553 ส่งผลให้มีการใช้พื้นที่เพื่อเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ 18.7% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด (เพิ่มขึ้น +1.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่คิดเป็น 17.4% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด)
>ประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เยอรมัน และออสเตรีย ตามลำดับ โดยออสเตรียมีสัดส่วนของพื้นที่สำหรับเกษตรอินทรีย์สูงสุด คิดเป็น 26.6% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อิตาลี (18.7%) สเปน (18.3%) เยอรมัน (10.8%) และ ฝรั่งเศส (10.7%)
> สำหรับจำนวนผู้ประกอบการอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน มีจำนวนถึง 92,799 ราย (+7.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 86,144 ราย) แบ่งเป็นผู้ประกอบการด้านเกษตรกรรม 82,603 ราย (+8.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 75,874 ราย) และผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ 10,196 ราย จำนวนดังกล่าวประกอบด้วยผู้ผลิต (Producer) 68,605 ราย (+10.1%) ผู้จัดเตรียม (Processor) 9,614 ราย (-1.1%) ผู้ผลิต/ผู้จัดเตรียม 13,998 ราย (+3.6%) และผู้นำเข้า 582 ราย (+0.5%)
> ส่วนปศุสัตว์อินทรีย์ ปี 2565 เป็นปีแห่งการฟื้นตัวของการทำเกษตรอินทรีย์ในภาคปศุสัตว์ด้วย มีการเพิ่มขึ้นที่สำคัญได้แก่ การเลี้ยงโค (+10.5%) สุกร (+12.1%) และสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่เนื้อและไก่ไข่ (+16.9%) ซึ่งมีเกิน 6 ล้านตัว แพะก็เติบโตเช่นกัน (+7.3%) ส่วนจำนวนแกะมีการเลี้ยงลดลงเล็กน้อย (-1.4%)
3. ตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อิตาลี
มูลค่าการค้ารวม (ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ) มีทั้งสิ้น 8.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 (ที่มีมูลค่า 7.5 พันล้านยูโร) และเพิ่มขึ้น +134.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 (ที่มีมูลค่า 3.6 พันล้านยูโร)
ช่องทางการค้าตลาดภายในประเทศ มีมูลค่า 5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 แบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง ดังนี้
1. การจำหน่ายตลาดในประเทศ (การค้าปลีก) มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.9 พันล้านยูโร (ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 8.1%) เพิ่มขึ้น +1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
> ซูเปอร์มาร์เก็ต มีมูลค่า 2.3 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
> ร้านค้าเฉพาะผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Specialized organic shops) มีมูลค่า 916 ล้านยูโร ลดลง -8.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
> ช่องทางค้าปลีกอื่นๆ มีมูลค่า 761 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น +5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
2. การบริโภคตามร้านอาหาร มีมูลค่า 1.1 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +53.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
3. การส่งออก มีมูลค่า 3.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +16.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
4. การนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากไทย
อิตาลีนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากไทย ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ (มีปริมาณ 2,940.2 ตัน) น้ำตาล (มีปริมาณ 382.0 ตัน) ผลิตภัณฑ์ผักและพืชตระกูลถั่ว (พืชตระกูลถั่ว มีปริมาณ 0.2 ตัน) ผลิตภัณฑ์แปรรูป (รวมทั้งสิ้น 13.5) ตันได้แก่ ผลิตภัณฑ์ธัญพืชแปรรูป (มีปริมาณ 1.5 ตัน) และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ (มีปริมาณ 11.9 ตัน)
5. ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1)ในโลกยุคปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบเดิมคงไม่เพียงพอ การใช้นวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่อาหารเกษตรอินทรีย์ เป็นหนทางที่สร้างความแตกต่างและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ให้กลายเป็นสินค้าที่นำรายได้กลับเข้าประเทศได้สำเร็จและอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เป็นวาระของชาติ ตรงตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักและให้ความสำคัญ
2) ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เป็นอาหารธรรมชาติที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกายและช่วยเสริมสุขภาพให้แข็งแรง (Health & Wellness) ตามธรรมชาติ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคด้านสุขภาพและความปลอดภัย ที่ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงจัดเป็นอาหารแห่งอนาคต ที่ผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบของการผลิต การตลาด การส่งออก ฯลฯ ให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
3) ผู้ประกอบการควรศึกษาเทรนด์สินค้าและการพิจารณาความต้องการของตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ มีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) และเหมาะสมกับตลาดอิตาลี ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และใส่ใจดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
4) ประเทศไทยมีพื้นฐานด้านชีวภาพที่มีความหลากหลาย วัตถุดิบตามธรรมชาติใหม่ๆ เช่น สาหร่าย เห็ดรา แมลง สมุนไพร ฯลฯ สามารถพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ สร้างโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกทางเลือกที่ต่อยอดธุรกิจได้
5) ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงเรื่อง Clean Label ซึ่งครอบคลุมความหมายในวงกว้าง เช่น ปราศจากสีสังเคราะห์ สารกันบูด (Preservative) สารให้ความหวาน ฮอร์โมน GMO และสารสกัด รวมทั้งสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้าได้ (Traceability) เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ ความเชื่อถือได้ เป็นต้น เหล่านี้เป็นเครื่องชี้บ่งและคุณสมบัติของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าได้
6) ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ต้องขอตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่อิตาลีและสหภาพยุโรปยอมรับและผู้บริโภครู้จัก สำหรับการวางจำหน่ายในอิตาลีและในสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานสินค้าในระดับสากลและยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ไทยในตลาดอิตาลีให้มากขึ้น
7) ผู้ประกอบการควรสนใจศึกษาช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ นอกเหนือไปจากการจำหน่ายในร้านค้า โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีความเหมาะสมในการจำหน่ายออนไลน์ ได้แก่ สินค้าที่สามารถเก็บได้นาน อย่างเช่น ข้าว เครื่องปรุง และสินค้าแห้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายร่วมกับผู้นำเข้าเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจต่อผู้ซื้อมากขึ้น
8) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านเกษตรอินทรีย์ SANA (Salone Internazioanle del Biologico) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญที่สุดของอิตาลี เป็นโอกาสดีในการเก็บข้อมูล ศึกษาแนวโน้มตลาด และพบปะนักธุรกิจทั้งในอิตาลีและจากต่างประเทศ โดยมีกำหนดจัดครั้งต่อไประหว่าง 7-10 กันยายน 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองโบโลญญ่า
9) ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการทำวิจัยตลาดและสินค้า (R&D) อย่างต่อเนื่อง เพื่อการตอบสนองที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงจะสามารถรักษาและทำตลาดได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic) ในอิตาลี

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Login