หน้าแรกTrade insightการลงทุนระหว่างประเทศ > Start Ups ด้าน Green Economy ของเยอรมนีเติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์น

Start Ups ด้าน Green Economy ของเยอรมนีเติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์น

ปัจจุบันกิจการสีเขียวกำลังไปได้ดีในเยอรมนี ซึ่งจากข้อมูลกลุ่มธุรกิจ Green-Start-Up ในเยอรมันที่รวบรวมโดยสถาบัน Thinktanks Borderstep Institut ปรากฏว่า “กว่า 4 ใน 10 ของบริษัท Start Ups ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เป็นธุรกิจสีเขียว ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพลังงานมากถึง 7 ใน 10 บริษัทเลยทีเดียว” สำหรับ ธุรกิจสีเขียวในที่นี้ หมายถึง กลุ่มธุรกิจที่ตั้งเป้าว่าจะมีส่วนร่วมเชิงนิเวศน์และดำเนินธุรกิจในแบบ Green Economy ซึ่งสินค้า/บริการต่าง ๆ จะเน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงและผลิตจากพลังงานทางเลือก เพื่อให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยในวงการพลังงานระหว่างประเทศ (Internaitonal Energy Agency : IEA) ได้ประเมินข้อมูลผ่านรายงานการลงทุนด้านพลังงานโลก (World Energy Investment Report) พบว่า ในปีนี้จะมีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) และเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในทั่วโลกกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ  25% หรือ 1 ใน 4 เทียบกับปี 2021 และแน่นอนที่ Start-up ของเยอรมันก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับโลก ที่ตื่นตัวกับการทำธุรกิจแบบ Green Economy ซึ่งมี Start-up ที่หลากหลาย อาทิ

  1. บริษัท Greenlyte : เป็นบริษัท Start-up จากภูมิภาค Ruhrgebiet ที่ผลิตเครื่องดูด CO2 โดยอาศัยหลักการดึง CO2 ออกจากอากาศ ทำงานในลักษณะคล้าย ๆ กับเครื่องดูดฝุ่น แล้วดึง CO2 จากอากาศผ่านกระบวนการทางเคมีที่ซับซ้อนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นไฮโดรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์ต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีนี้ เรียกว่า “Direct Air Capture” บริษัทฯ นี้ ก่อตั้งโดยความร่วมมือของผู้ชาย 3 คน ได้แก่ นาย Florian Hildebrand นาย Niklas Friederichsen และนาย Peter Matthias Behr ตัดสินใจตั้งบริษัทภายหลังจากที่ร่วมกันทำงานวิจัย โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่ Behr ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมทำการค้นคว้า/วิจัยในมหาวิทยาลัย Duisburg – Essen นานกว่า 15 ปี ว่าจะทำยังไงที่จะสามารถกรอง CO2 ออกจากอากาศให้ได้ โดยล่าสุด Greenlyte ก็ได้ซื้อสิทธิบัตรจากมหาลัย Duisburg-Essen และมีนาง Janna Ensthaler นักลงทุนชื่อดังเข้าลงทุนผ่านกองทุน Green Generation Fund กับบริษัท Greenlyte เรียบร้อยแล้ว โดยนาง Ensthaler กล่าวว่า “ถ้าบริษัท Start-up 1 รายสามารถกำจัด CO2 ในอากาศ ได้ 1 กิกะตัน ดังนั้น เราต้องการ Start-Up 52 บริษัท ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ” โดยบริษัท Greenlyte วางแผนที่จะสร้างเครื่องจักรนำร่องในเดือนกันยายนนี้ ที่เมือง Essen เครื่องดังกล่าวสามารถกำจัด CO2 จากอากาศได้ถึง 100 ตันต่อปี
  2. บริษัท 1 Komma 5 Grad : มีความเป็นไปได้ที่จะก้าวขึ้นเป็น “ยูนิคอร์น” ของเยอรมนีในเวลานี้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นยูนิคอร์นจำนวน 28 บริษัท และบริษัทที่จะเรียกตัวเองว่ายูนิคอร์นได้นั้นต้องได้รับการประเมินว่ามูลค่าของบริษัท โดยต้องสูงกว่า 1 พันล้านยูโร ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่า บริษัท 1Komma5 Grad จากเมือง Hamburg มีอายุเพียง 3 ปี และมีศักยภาพที่จะพัฒนามาเป็นยูนิคอร์นได้ ซึ่งนาย Philipp Schröder, CEO และผู้ก่อตั้งบริษัทฯ (เคยเป็นอดีตผู้บริหาร Tesla เยอรมนีนานถึง 2 ปี) รวบรวมเงินลงทุนได้มากถึง 300 ล้านยูโร โดยบริษัทฯ จะอาศัยเทคโนโลยี Internet of Things เป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ และมีระบบการจัดการพลังงานที่สามารถสื่อสารระหว่างระบบต่าง ๆ ทั้ง (1) ระบบปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) (2) ระบบกักเก็บพลังงาน (3) ระบบ PV และ (4) Wall Box ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น เป้าหมายที่สำคัญของบริษัทฯ คือ ต้องการให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตโดยสร้างมลพิษทางอากาศแบบเป็นกลาง สอดคล้องกับแนวทางในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) ที่ต้องการให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาภาวะโลกร้อนให้สูงกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ได้ โดย 1Komma5 Grad คาดการณ์ว่า ในปี 2023 ยอดจำหน่ายของบริษัทฯ น่าจะอยู่ที่ 550 – 600 ล้านยูโร ซึ่งเกือบ 2 ใน 3 ของธุรกิจใหม่จะเกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของบริษัทเอง ส่วนอีก 3 ส่วนที่เหลือจะเกิดจากการซื้อกิจการ (Takeover) บริษัทอื่น ๆ
  3. บริษัท Traceless Materials : รู้จักกันในนาม “กลุ่มสตรีผู้กำจัดพลาสติก” โดยในปี 2020 นาง Johanna Baare และนาง Anne Lamp ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Traceless Materials ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติก ซึ่งแน่นอนว่า แม้บรรจุภัณฑ์พลาสติกย่อมมีราคาถูกที่สุด แต่ก็สร้างปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก และต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย บริษัท Traceless Materials ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำใช้เศษพืชจากอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ เศษที่เหลือจากการผลิตเบียร์และแป้งมัน เป็นต้น มาทำการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์จากบริษัทฯ โดยเรียกคอนเซ็ปนี้ว่า “เศรษฐกิจชีวภาพแบบหมุนเวียน (Circular Bioeconomy)” บรรจุภัณฑ์ของบริษัทฯ จะย่อยสลายกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ผลิตเม็ดพอลิเมอร์ที่ไม่ได้ทำมาจากพลาสติกขึ้นมา ซึ่งสามารถนำเม็ดโพลิเมอร์นี้ไปใช้งานผลิตบรรจุภัณฑ์บนสายพานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ตามมาตรฐานปกติ ซึ่ง Traceless Materials โฆษณาว่า สินค้าของตนเป็นทางเลือกที่ดีที่จะนำมาใช้แทนพลาสติกที่ยากต่อการย่อยสลาย และบริษัท Otto ก็ถือเป็นลูกค้ารายแรกของบริษัทฯ และยอดขายของบริษัทฯ ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และได้เริ่มโครงการนำร่องโครงการอื่นต่อโดยร่วมงานกับสายการบิน Lufthansa พัฒนาภาชนะแบบย่อยสลายได้ขึ้น
  4. Biokohle Ladbergen : เป็นกิจการ Start Ups จากภูมิภาค Tecklenburger Land โดยทำการผลิตถ่านหินสีเขียว ที่ได้จากของเสีย/ขยะจากพืช ไม้ เศษผัก เศษอาหาร และกากตะกอนน้ำเสีย มาทำการอัดใน Autoclave ซึ่งเป็นตู้อบแรงดันสูงพร้อมความร้อนชนิดหนึ่ง จนกลายเป็นถ่านหินที่สามารถนำไปเผาไหม้เหมือนกับถ่านหินปกติ ซึ่งข้อดีของกระบวนการดังกล่าว คือ แรงดันที่สูงถึง 16 bar และความร้อนกว่า 200 องศาเซลเซียส ทำให้ใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะสามารถผลิตถ่านหินขึ้นมาได้ ซึ่งในธรรมชาติการผลิตถ่านหินต้องใชเวลานานถึงหลายล้านปี ด้านนาย Max Brinkhege  ซึ่งเป็น 1 ในผู้บริหารของบริษัทฯ กล่าวว่า “ในการผลิตถ่านชีวภาพจำนวน 700 กิโลกรัม เราต้องใช้มวลชีวภาพประมาณ 1 ตัน” โดยในการเผานี้สร้าง CO2 เท่ากับที่พวกพืชได้สะสมตามธรรมชาติเท่านั้น นั้นหมายความว่า หากปล่อยให้พืชผักเหล่านี้ย่อยสลายตามธรรมชาติแทนที่จะนำมาผลิตเป็นถ่านหินชีวภาพนี้ก็จะสร้าง CO2 เท่ากัน บริษัท Biokohle Ladbergen ได้เศษพืชจากผู้ผลิตสินค้าบริโภค ไม้ที่ใช้ก็เป็นไม้ที่ถูกแมลงทำลายไม่สามารถนำมาใช้งานได้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีเครื่องจักรนำร่อง 2 เครื่อง ตั้งอยู่ที่เมือง Ladbergen ระหว่างเมือง Münster และ Osnabrück ซึ่งบริษัทฯ สามารถผลิตถ่านชีวภาพได้มากถึง 50 ตัวต่อสัปดาห์  โดยลูกค้ารายใหญ่ในเวลานี้ก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่นผู้ผลิตเหล็กกล้าที่ต้องการผลิตเหล็กที่มีค่า CO2 แบบเป็นกลาง เป็นต้น

 Handelsblatt 26 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login