หน้าแรกTrade insightภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัด > นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าส่งค้าปลีกและร้านค้าชุมชน เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าส่งค้าปลีกและร้านค้าชุมชน เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ

 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีก และการดำเนินงานร้านค้าชุมชนใน จ.บุรีรัมย์ ว่า “ครั้งนี้ได้เดินทางมา จ.บุรีรัมย์เพื่อพบปะผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกและร้านค้าชุมชน ซึ่งการลงพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบการ 2 กลุ่มนี้มาก จึงต้องการลงมารับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะต่างๆ ด้วยตนเอง และพร้อมนำความเห็นนั้นมาดำเนินการช่วยเหลือให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เบื้องต้นได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการสร้างความเข้มแข็ง ให้การสนับสนุนส่งเสริม เพิ่มพูนทักษะ ความรู้ด้านการจัดการร้านค้า และให้การช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมท้องถิ่น อีกทั้ง การที่ภาครัฐให้ความสำคัญและสนใจผู้ประกอบการรายธุรกิจลึกลงไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย รับฟังความคิดเห็น จะทำให้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง นำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขและต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้ตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ สามารถหามาตรการสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง ส่งผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ ประชาชน ภาครัฐ และเศรษฐกิจของประเทศ”

           “ร้านค้าส่งค้าปลีกที่ตรวจเยี่ยม คือ ร้านทวีกิจซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ต.อิสาณ อ.เมือง เป็นร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ เป็นกิจการของคนไทย 100% มีร้านค้าปลีกสาขา จำนวน 171 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา สระแก้ว อุบลราชธานี และสมาชิกเครือข่ายร้านค้าปลีก/ร้านโชวห่วย จำนวน 370 ร้านค้า จากการพูดคุยพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของร้านค้าส่งค้าปลีกโดยทั่วไป คือ ไม่มีระบบการบริหารจัดการร้านค้าที่ดี ไม่มีระบบการบริหารสต็อกสินค้า และปัญหาด้านเงินทุนสำหรับสั่งซื้อสินค้าเข้าร้าน ฯลฯ ทั้งนี้ ปัจจุบันทางร้านได้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า มีระบบสต็อกสินค้าที่มีประสิทธิภาพ มีบริการเดลิเวอรี่ที่พร้อมจะนำสินค้าไปส่งให้ร้านค้าปลีกรายย่อย พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านโชวห่วยที่เป็นเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นและสามารถแข่งขันกับร้านค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ได้ อีกทั้ง ร้านฯ มีนโยบายชัดเจนและยึดมั่นมาโดยตลอด คือ ไม่จำหน่ายบุหรี่ เหล้า เบียร์ ภายใต้สโลแกน ‘เพราะเราห่วงใยคุณและทุกคนในครอบครัว’ ทำให้สินค้าภายในร้านเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันจริงๆ นอกจากนี้ สิ่งที่ร้านค้าส่งค้าปลีกต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือ การรักษามาตรฐานสินค้าและการบริการที่ดี ต้องมีการตอบแทนชุมชน และต้องรู้จักปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง และได้ใจลูกค้าทั้งที่เป็นร้านค้าปลีกรายย่อย/โชวห่วย และผู้บริโภค จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ร้านค้าส่งค้าปลีก/ร้านโชวห่วยท้องถิ่นเป็นมิตรแท้ผู้บริโภค/ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะในวันที่ไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันได้ ร้านค้าส่งค้าปลีกและร้านโชวห่วยท้องถิ่นพร้อมยืนเคียงข้างและเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้บริโภคในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี”

          รมช.พณ.กล่าวต่อว่า “หลังจากนั้น ได้เดินทางไปที่ศูนย์เรียนรู้การทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายภูอัคนี อ.เฉลิมพระเกียรติ แหล่งผลิตผ้าภูอัคนีที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าของ จ.บุรีรัมย์… ศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ ตั้งขึ้นโดยชาวชุมชน ‘เจริญสุข’ ที่ต้องการให้ ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ เป็นแหล่งเรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม/ภูมิปัญญาพื้นบ้านการย้อมผ้าจากดินภูเขาไฟที่สืบทอดกันมานาน โดยชุมชน ‘เจริญสุข’ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุจากลาวาภูเขาไฟ ตั้งอยู่ใกล้ ‘เขาอังคาร’ ภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับแล้ว 1 ใน 6 ลูกของ จ.บุรีรัมย์ ดินสีแดงเมื่อนำมาแยกกรวด เศษไม้ใบหญ้า นำเอาเฉพาะน้ำสีแดงมาใช้ย้อมฝ้าย ผ้าที่ได้จะออกเป็นสีอิฐมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และเป็นที่มาของ ‘ผ้าภูอัคนี’ ที่สวยงาม”

          “เบื้องต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มผ้าภูอัคนี โดยได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเสริมทักษะและความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจแบบครบวงจร พัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สวยงาม ตรงความต้องการของตลาด สอนเทคนิคการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาช่องทางการสื่อสาร/การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่างๆ พร้อมทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค ฯลฯ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มยอดขายและสร้างความรู้จักในวงกว้าง อย่างไรก็ตามได้กำชับให้กรมฯ และพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ บูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึง ประสานภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการและขยายตลาดให้กลุ่มผ้าภูอัคนีอีกทางหนึ่งด้วย”  

          “โดยหลังจากที่ได้พูดคุยและตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการแล้ว ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งสรุปปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่ได้รับ พร้อมหามาตรการสนับสนุน เน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมชัดเจน เกิดภาคีเครือข่ายธุรกิจ และสามารถผลักดันให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก/โชวห่วย และร้านค้าชุมชน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

Login