หน้าแรกTrade insightภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัด > นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เปิดงานสัมมนา เรื่อง “E-Commerce” และมอบทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เปิดงานสัมมนา เรื่อง “E-Commerce” และมอบทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

นายวีรศักดิ์  หวังศุภกิจโกศล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ในการกำกับดูแล ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิเพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจร้านค้าส่งต้นแบบรายใหญ่ และไม่ลืมร้านค้าปลีกรายย่อย โดยเข้าไปตรวจเช็คความพร้อมก่อนผลักดันและพัฒนาศักยภาพให้เป็น ‘สมาร์ท โชวห่วย’ พร้อมพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับยุวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าอบรมหลักสูตรนักการค้าออนไลน์เพื่อรองรับวิถีชีวิตแบบ New Normal

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบปะผู้ประกอบการร้านค้าส่ง-ค้าปลีก เพื่อดูความพร้อมร้านค้าก่อนพัฒนาเป็น ‘สมาร์ทโชวห่วย’ ใน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ว่า ร้านโชวห่วยเป็นธุรกิจพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เกิดการหมุนเวียน เกิดการจ้างงานในชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งสินค้าอุปโภคบริโภคและช่องทางการตลาดที่สำคัญสำหรับคนในท้องถิ่น การลงพื้นที่เพื่อพบปะรับฟังปัญหา-อุปสรรคจากผู้ประกอบการในพื้นที่จริงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและผลักดันให้ร้านค้าโชวห่วยไทยเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง มั่นใจว่าการที่ภาครัฐให้ความสำคัญและสนใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการลึกลงไปถึงรายละเอียดปลีกย่อยจะทำให้เข้าใจเข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขและต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้ตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่สามารถหามาตรการสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง ตรงใจประชาชน ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ ประชาชน ภาครัฐ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

          “ผมนำทีมมาจังหวัดชัยภูมิในครั้งนี้ได้ไปตรวจเยี่ยมร้านค้าส่ง-ค้าปลีกที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การส่งเสริมและพัฒนา รวม 3 ร้าน คือ 1) ร้านสิน 2000 ชัยภูมิ ซึ่งเปิดดำเนินการมาแล้ว 3 ปีเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบขนาดใหญ่ในจังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันมีเครือข่ายร้านค้าปลีกกว่า 1,000 ร้านค้า ครอบคลุมจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมาและขอนแก่น อีกทั้งยังเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ใช้ Application ถุงเงินประชารัฐ โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาอย่างต่อเนื่อง  2) ร้านคูณเฮง จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ใช้ Application ถุงเงินประชารัฐ มีพื้นที่ขายประมาณ 40 ตารางเมตร พื้นที่คลังสินค้าประมาณ 40 ตารางเมตร มีสินค้าที่จำหน่ายภายในร้านประมาณ 1,000 รายการ ขณะนี้ได้สมัครเข้าร่วมโครงการสมาร์ทโชวห่วยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจความพร้อมของร้านค้า และ 3) ร้านดวงดาว จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการนำเอาโปรแกรมสำเร็จรูป POS มาใช้งาน มีพื้นที่ขายประมาณ 250 ตารางเมตร พื้นที่คลังสินค้าประมาณ 150 ตารางเมตร มีสินค้าที่จำหน่ายภายในร้านประมาณ 300 รายการ สมัครเข้าร่วมโครงการสมาร์ทโชวห่วยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจประเมินความพร้อมของร้านค้าเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 3 ร้านค้าล้วนเป็นกิจการของคนไทย 100% โดยจากการพูดคุยพบว่ามีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาเป็น “สมาร์ทโชวห่วย” ได้ไม่ยาก

          ซึ่งจากข้อมูลที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทำการสำรวจพบว่า ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิมีร้านค้าโชวห่วยอยู่ประมาณ 1,300 ร้าน สมัครเข้าร่วมพัฒนาเป็น “สมาร์ทโชวห่วย” แล้ว 198 ร้าน ซึ่งร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการต่างพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอย่างเห็นได้ชัด มีความตื่นตัวและมีใจที่พร้อมอยากพัฒนา ซึ่งหลังจากนี้จะได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับหน้าที่ไปดำเนินการปรับโฉมร้านค้าเหล่านี้ให้เป็น ‘สมาร์ทโชวห่วย’ อย่างเต็มรูปแบบ และเพิ่มจำนวนให้มากยิ่งขึ้นในทุกๆ จังหวัด”

          “นอกจากการตรวจเยี่ยมร้านค้าส่ง-ค้าปลีกแล้ว ยังได้เดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับยุวชนคนรุ่นใหม่จำนวนกว่า 100 คนที่สนใจสมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตร ‘นักการค้าออนไลน์รุ่นใหม่’ (Young Digital Warrior) ณ ศูนย์การเรียนรู้ตะโกดัดเทศบาลตำบลภูเขียว อ.ภูเขียว ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมต่างมีความมุ่งมั่นตั้งใจใฝ่เรียนรู้เกี่ยวกับการค้าออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันและในอนาคตจะมีความสำคัญมาก โดยเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านไปเดินจับจ่ายซื้อของตามสถานที่ต่างๆ ได้ทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถซื้อขายสินค้าได้ตลอดเวลาไม่ต้องแคร์เคอร์ฟิว เรียกว่านอนอยู่บ้านก็สั่งซื้อสินค้าผ่านมือถือได้ ตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบ New Normal  ซึ่งนับจากนี้ต่อไป   โลกออนไลน์จะกลายเป็นแหล่งรวมตัวของพ่อค้าแม่ค้าและผู้ซื้อที่มาจากทั่วโลก จึงอยากให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการชุมชนรู้จักนำเอาอีคอมเมิร์ซมาเป็นช่องทางในการขยายโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน แม้จะมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นก็ยังสามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย

Login