สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของเม็กซิโก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเม็กซิโกจะหดตัว 0.3% ในปี 2568
IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเม็กซิโกในปี 2568 เป็น – 0.3% ลดลง 1.7% จากคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งคาดการณ์ตัวเลขไว้ที่ 1.4% โดยระบุว่า การปรับลดดังกล่าวเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และสภาพการเงินที่ติดขัด การปรับลดประมาณการนี้ยังสะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีที่สหรัฐฯ ใช้กับเม็กซิโก ซึ่งส่งผลให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับภาษีที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางการเมืองโลกทำให้หลายประเทศต้องรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับขึ้นภาษีคือประเทศในอเมริกาเหนือ เช่น เม็กซิโก แคนาดา และสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งล้วนเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
แม้ว่าในปี 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจเม็กซิโกเป็น 2.4% ซึ่งถือว่าขยายตัวได้ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่การคาดการณ์จาก IMF สำหรับปี 2568 นี้ถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่หลังจากช่วงเวลาหลายปี นอกจากนี้ยังมีรายงานจากองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเม็กซิโกจะหดตัวลงถึง 1.3% ในปี 2568 อย่างไรก็ดี IMF ยังคาดว่าเศรษฐกิจเม็กซิโกจะกลับมาขยายตัวในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตที่ 1.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเม็กซิโกมีโอกาสฟื้นตัวจากภาวะถดถอยได้
ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบามได้ออกมาให้ความเห็นถึงการคาดการณ์ของ OECD และยืนยันว่าจะไม่เพิ่มหนี้สาธารณะเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น แม้เม็กซิโกจะเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อ่อนแรงลง ภัยแล้งที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐฯ โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งกล่าวถึงแผนสำหรับการเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเม็กซิโกในโครงการ “Plan Mexico” ที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีหลายด้านที่สามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการขยายการค้าและการลงทุนในเม็กซิโก นโยบายบางส่วนที่อาจเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย เช่น นโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ การสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เม็กซิโกสามารถพิจารณาการนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อเสริมการผลิตในประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่การผลิตในเม็กซิโกเองยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มที่ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์พบว่า สินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปเม็กซิโกมากที่สุดคือประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ โดยมีมูลค่า 1.43 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 และในปีก่อนหน้ามีมูลค่า 1.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีแนวโน้มในการส่งออกสูงขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนโยบายด้านอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีการสนับสนุนด้านการเกษตรและเทคโนโลยีเกษตร (Agriculture and Agri-tech) ในการเพิ่มผลผลิตการเกษตร และการประยุกต์ใช้ IoT และ AI ในการเกษตรไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเกษตรที่ทันสมัยสามารถขยายการส่งออกเทคโนโลยีเกษตรไปยังเม็กซิโกได้ แม้ว่าสินค้าประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการเกษตรมีมูลค่า 2.9 แสนเหรียญสหรัฐในปี 2567 และ 1.9 แสนเหรียญสหรัฐในปี 2566 แต่แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตร้อยละ 51.59 ซึ่งมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในอนาคตได้
แม้สภาพเศรษฐกิจของเม็กซิโกจะเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่สำหรับผู้ประกอบการไทย สถานการณ์นี้อาจเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ในการเข้ามาเป็น พันธมิตรให้กับภาคอุตสาหกรรมเม็กซิโกที่ต้องการลดความเสี่ยงจากต้นทุนการนำเข้าและแรงกดดันทางการเมือง อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และสินค้าอุปโภคบริโภค อาจเข้ามาทดแทนสินค้าบางกลุ่มที่เม็กซิโกนำเข้าจากสหรัฐฯ หรือจีนที่กำลังเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าได้
——————————————————————
ที่มา
https://mexicobusiness.news/finance/news/mexicos-economy-shrink-05-2025-says-imf?tag=finance
อ่านข่าวฉบับเต็ม : IMF เผยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจากบวกเป็นลบ ปธน. เชื่อมั่น Plan Mexico พลิกโอกาสได้!