รายงานเรื่อง Gen Z Illuminate Digital Cultural Insights จัดทำโดย The Center for Food Integrity และการสำรวจของ Medical Inspiration Daily for Stronger Society (MIDD) แสดงผล ดังนี้
ลักษณะของคนอเมริกันกลุ่ม Gen Z
1. คนที่เกิดระหว่างปี คศ 1997 – 2012 ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 21 ของผู้บริโภคสหรัฐฯรวมทั้งสิ้น
2. เป็นคนอเมริกันที่มาจากการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ (mixed race) เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนถึงจุดเปลี่ยนของลักษณะประชากรของประเทศสหรัฐฯที่กำลังเกิดขึ้น ที่ U.S. Census Bureau คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 ส่วนใหญ่ของคนอเมริกันจะเป็นกลุ่ม Gen Z และจะส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนผิวขาว (white) อีกต่อไป สหรัฐฯจะกลายเป็นประเทศที่มีลักษณะประชากรที่เป็นการผสมผสานของหลายเชื้อชาติและชาติพันธุ์
3. มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วที่สุดล้ำหน้าทุกกลุ่มอายุ คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 รายได้จาก Gen Z จะสูงถึง 33 ล้านล้านเหรียญฯ ปัจจุบันส่วนใหญ่ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังไม่มีภาระทางการเงินมากเหมือนกลุ่มอื่น เนื่องจากมีงานทำ ยังโสด และยังไม่มีภาระการเงินในการซื้อบ้านและสร้างครอบครัว
4. เกิดและเติบโตในช่วงการเติบโตของเทคโนโลยี่ก้าวหน้า จึงมีความรู้ความเข้าใจและมีความคุ้นเคยกับ เทคโนโลยี่ก้าวหน้าและเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยี่รวมถึงในการสื่อสารผ่านทาง social media
5. เกิดและเติบโตในช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหามลภาวะเสียในสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ จึงมีความสนใจสูงต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของตน
6. มีวิถีการดำรงชีวิตที่มีแนวโน้มไปทางให้ความสำคัญต่อสุขภาพ
ลักษณะของ Gen Z ก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะเข้าไปเปลี่ยนรูปอุตสาหกรรมอาหารสหรัฐฯในอนาคตอันใกล้เมื่อ Gen Z กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญของสหรัฐฯ พฤติกรรมดังกล่าวได้แก่
1. มีมุมมองและความคิดเห็นเรื่องการซื้อสินค้าอาหารที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนหน้า คือ
(1) อาหารที่เลือกซื้อและบริโภค คือสิ่งที่จะช่วยระบุและแสดงตัวตนของผู้ซื้อ
(2) ใส่ใจต่อแหล่งที่มาของอาหาร ผลกระทบของการผลิตอาหารที่จะเกิดขึ้นกับสังคม มีความคาดหวังว่าสินค้าอาหารที่พวกเขาบริโภคต้องมาจากการผลิตที่จะไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
2. วิถีการดำรงชีวิตแบบคนรักสุขภาพ สร้างอุปนิสัยสนใจบริโภคอาหารประเภท clean และ sustainable แต่ในขณะเดียวกันกลับมีความเชื่อว่าการบริโภคของหวานและ snacks สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตแบบรักษาสุขภาพได้
3. มีความมั่นใจว่าเทคโนโลยี่การผลิตอาหารสามารถช่วยสร้างความปลอดภัยและความยั่งยืน (sustainability) ของอาหาร
4. ส่วนใหญ่ให้ความสนใจสูงต่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มประเภท plant-based และ vegan จากแรงกระตุ้นที่มาจากความสนใจต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และความต้องการแสดงออกให้เห็นถึงความสนใจต่อเรื่องดังกล่าว
5. ลักษณะอาหารที่นิยมรับประทาน
(1) อาหารรสจัด (spicy food)
(2) อาหารที่มีรสชาติแปลกใหม่ มีแนวโน้มสูงกว่ากลุ่มอื่นที่จะทดลองอาหารและเครื่องดื่มแปลกใหม่ ออกไปจากแบบเดิมๆ รวมถึงที่เป็น niche products และที่เป็นการปรุงแต่งตามที่ตนต้องการ เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม เช่น กาแฟเย็น หรือที่มีการปรุงแต่งด้วยส่วนผสมแปลกๆตามที่ต้องการ
(3) ชอบบริโภค snack มากกว่ามื้ออาหาร (meals) มีแนวโน้มสูงที่จะบริโภค snack แทนมื้ออาหาร
6. นิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารประเภทจานด่วน และนิยมใช้บริการส่งอาหาร
7. นิยมความรวดเร็วและความสะดวกในการรับประทานอาหาร
8. Influencer ใน social media มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าใดๆ ขณะเดียวกันก็ใช้ social mediaเป็นช่องทางสำคัญในการแสดงออกและแบ่งปันความคิดเห็นถึงความชอบและไม่ชอบสินค้าใดๆ
9. ราคายังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า แต่จะไม่เสียดายที่จะใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อของใช้หรืออาหารที่เชื่อว่ามีคุณภาพสูง
ที่มา:
1. Wealth of Geeks: “How Gen Z’s Dinner Plate is Changing the Food Industry”, by Ale Caspero, July 18, 2023
2. Food Industry Executive: “Gen Z Poised to Reshape the Food Industry: CFI”, February 6,2023
3. Insider: “Gen Z eats fast food like no other generation. From a love for spicy food to visiting restaurant in big groups, these are 6 traits that define their dining habits.”, by Grace Dean, April 27, 2023
ข้อมูลเพิ่มเติม และ ข้อคิดเห็นจาก สคต ลอสแอนเจลิส
1. ประมาณการณ์ล่าสุดในปี 2022 ระบุสหรัฐฯมีประชากรกลุ่ม Gen Z ประมาณ 69.58 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20.66 ของประชากรสหรัฐฯรวมทั้งสิ้น คาดการณ์ว่าในปี 2026 ประชากรกลุ่ม Gen Z จะมีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐฯหรือประมาณ 82 ล้านคน ส่วนใหญ่ของ Gen Z หรือประมาณ 8.2 ล้านคนอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย รองลงมา 6.8 ล้านคนอยู่ในเท๊กซัส
2. ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งสินค้าไม่เฉพาะแต่สินค้าอาหาร แต่รวมถึงสินค้าอื่นๆเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จำเป็นต้องคำนึงว่าเงื่อนไขที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจและความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับรูปแบบการทำธุรกิจ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากรสหรัฐฯ ที่ในอนาคตอันใกล้อำนาจการซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของ Gen Z
3. ลักษณะการบริโภคของ Gen Z ที่นิยมของแปลกใหม่และอาหารรสจัด คือศักยภาพของโอกาสของสินค้าอาหารไทย ขณะที่ความต้องการสินค้าที่มาจากการผลิตและจากการทำธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและที่ให้ความสนใจสูงต่อผลกระทบทางสังคม หรือ social responsibility อาจเป็นสิ่งท้าท้ายสำหรับผู้ประกอบการหลายราย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส
หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)