ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีเติบโตรวม 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวเพิ่มร้อยละ 4.5 หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่ายูเออีมีความพยายามอย่างแน่วแน่ ในการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน และการเปลี่ยนรูปแบบเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆเป็นพื้นฐานสำคัญ สร้างความคิดสร้างสรรค์และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้ออกมาสู่สังคม อันจะเป็นการช่วยต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยูเออีในระยะยาว
Mr. Abdullah bin Touq Al Marri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจกล่าวว่า “นโยบายเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นที่เรานํามาใช้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายนี้ ขึ้นอยู่กับความเร็วและความแม่นยําในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การกําหนดกลยุทธ์และแผนการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อขับเคลื่อนการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ และการยกระดับกระบวนการทางเศรษฐกิจและกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ความพยายามเหล่านี้ช่วยรักษาตําแหน่งของยูเออี ให้มีสภาพแวดล้อมและที่น่าสนใจสําหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น ผนวกกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ และเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้มีการจ้างงาน การบริโภค การส่งออกสินค้า และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้มีแค่รูปแบบของเม็ดเงินการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาพร้อมกับความรู้ ด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการ การพัฒนาด้านทักษะ และทุนปัญญา ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ”
สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายสาขา
ในไตรมาสที่แรกปี 2566 พบว่าหมวดธุรกิจบริการขนส่งและคลังสินค้าขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จาก GDP หมวดขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ามูลค่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ตามด้วยหมวด การก่อสร้างมูลค่า 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นาง Hanan Mansoor Ahli ผู้อํานวยการศูนย์สถิติของรัฐบาลกลางกล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจของยูเออียังคงเติบโตสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจใหม่ บนพื้นฐานของความรู้และนวัตกรรม เป็นเครื่องยืนยันการพึ่งพารูปแบบธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมบนพื้นฐานของการทํางานเชิงรุกและความยืดหยุ่นในแผนขั้นตอนและกฎหมาย”
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หมวดที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในขณะที่หมวดการเงินและการประกันภัยเติบโตร้อยละ 7.7 หมวดการค้าส่งและค้าปลีกเติบโตร้อยละ 5.4 เกิน 27.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในทํานองเดียวกันภาคที่ไม่ใช่การเงินเติบโตขึ้นร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2565 ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที (ICT) เป็นธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เติบโตร้อยละ 3.3 ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตร้อยละ 3.1 (YoY)
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
ปี 2566 ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของยูเออีจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงเศรษฐกิจ ยูเออีมีแนวโน้มเชิงบวก โดยได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมภายในประเทศที่แข็งแกร่ง หลังจากมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบกว่าทศวรรษในปีที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ของไทยเร่งดำเนินการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญที่ผ่านมา อาทิ การผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตร อะไหล่รถยนต์ เครื่องสำอาง ผ่านงานแสดงสินค้าในรัฐดูไบ เร่งการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ CEPA (Comprehensive Economic Partnership Agreement) ระหว่างไทยกับยูเออีที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและจะเป็นประตูเข้าสู่การค้าของกลุ่มประเทศอาหรับต่อไป
*********************
Gulfnews
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)