หน้าแรกTrade insightข้าว > Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์

Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์

Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์


โดย นางศุจิรัตน์ สิทธิโรจน์  นักวิชาการพาณิชย์ปฏิบัติการ กองนโยบายระบบการค้า

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก โดยในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลกรวม 744,433.46 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 คือ ข้าว มีมูลค่า 182,081.67 ล้านบาท (24.45%) หนึ่งในข้าวที่ไทยมีชื่อเสียงในการผลิตคือข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพ และปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์ปริมาณ 16,500 ตัน และคาดว่าภายในปี 2564 จะสามารถผลิตได้ 247,000 ตัน อย่างไรก็ตาม การค้าสินค้าเกษตรมักประสบปัญหาความผันผวนของปริมาณผลผลิตจากปัจจัยภายนอกหลายประการ อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากการไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย ที่ขาดเทคโนโลยีขั้นสูง ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปัญหาสำคัญด้านความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าเกษตร นำไปสู่ปัญหาด้านราคาและการกีดกันทางการค้า เนื่องจากมีการปลอมปนสินค้าและสวมสิทธิเอกสารมาตรฐานหรือใบอนุญาต ที่ไม่สามารถตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสได้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เล็งเห็นว่าคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบจะช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อปลายน้ำได้ สนค. จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร โดยขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้เลือกข้าวอินทรีย์เป็นสินค้านำร่อง เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง มีศักยภาพการส่งออก และมีขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัล เพิ่มมูลค่าข้าวอินทรีย์ และสร้างอำนาจต่อรองทางราคาให้กับเกษตรกรต้นน้ำ ตลอดจนเป็นการยกระดับระบบการค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ยังเป็นโอกาสในอนาคตที่จะประยุกต์ใช้ระบบ Blockchain กับการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (Food Agriculture) รวมทั้ง อาหารแห่งอนาคต (Food for the future) ที่อยู่ภายใต้กระแสเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

1. ศักยภาพและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ข้าวอินทรีย์) ของไทย

1.1 ศักยภาพข้าวอินทรีย์ในตลาดโลก ข้าวอินทรีย์ถือเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านการส่งออกของไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเกษตรกรรมอินทรีย์ (The Research Institute of Organic Agriculture: FiBL) และสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements: IFOAM) พบว่าในปี 2560 ไทยมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นลำดับที่ 7 ของเอเชีย และลำดับที่ 51 ของโลก ด้วยพื้นที่ขนาด 570,409 ไร่ สามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ 1,817 ล้านบาท/ปี โดยพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ คิดเป็นสัดส่วน 59% ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ในปี 2561 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์มีมูลค่า 750 ล้านบาท แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.098% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทย แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ 0.41% ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทย

1.2 มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ข้าวอินทรีย์) เป็นเกณฑ์ข้อกำหนดขั้นต่ำที่เกษตรกรผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้หน่วยงานรับรองมาตรฐานใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจประเมิน โดยระบุแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดที่จะตรวจประเมินรับรองอย่างละเอียดชัดเจน ทั้งวิธีปฏิบัติและข้อห้าม ครอบคลุมสำหรับเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการในตลาดเมล็ดพันธุ์ ในธุรกิจแปรรูป และกระบวนการขนส่ง โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น การจัดการฟาร์มโดยรวม ระบบนิเวศการเกษตร การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ การผลิตพืชอินทรีย์ การจัดการดินและธาตุอาหาร การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การป้องกันมลพิษและการปนเปื้อน และการแปรรูปและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น จึงมีความเหมาะสมที่จะนำแนวทางการปฏิบัติที่มีแบบแผนชัดเจนและเป็นระบบของการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาปรับรูปแบบสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเทคโนโลยี Blockchain

ทั้งนี้ ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมากมายหลายมาตรฐาน ทั้งระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ และแต่ละตรารับรองจะกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานที่มีความเข้มงวดต่างกัน ดังนั้น การเลือกขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผู้ผลิตสินการเกษตรอินทรีย์จึงควรเลือกใช้ตรารับรองในระดับที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าในประเทศปลายทาง

2. จุดเด่นและประโยชน์ของ Blockchain กับการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์

2.1 จุดเด่นของ Blockchain เทคโนโลยี Blockchain เป็นโอกาสในการยกระดับกระบวนการและธุรกรรม
ที่เกี่ยวข้องกับการค้าของประเทศไทย ไปสู่การค้าบนระบบเศรษฐกิจการค้าสมัยใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain มีลักษณะการทำงานที่เป็นระบบการกระจายฐานข้อมูล (Distributed Ledger) ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนกลาง สามารถดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติผ่านเงื่อนไข Smart Contract ซึ่งการเป็นระบบอัตโนมัติจะช่วยลดปัญหาการหลอกลวง ป้องกันการแก้ไขข้อมูลและปลอมแปลงข้อมูล และป้องกันการเกิดข้อพิพาทระหว่างกันได้มากขึ้น จึงสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย อาทิ การเงิน การค้า และการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

จึงอาจกล่าวได้ว่า Blockchain เป็น Internet of Value สามารถส่งต่อคุณค่าและความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ผ่านระบบ Blockchain ซึ่งแตกต่างจาก Internet ในปัจจุบันที่เป็น Internet of Information โดยสามารถส่งต่อได้เพียงข้อมูลเท่านั้น Blockchain จึงช่วยยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับและการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลให้มีความโปร่งใส ปลอดภัย และเชื่อถือได้

2.2 ประโยชน์ของ Blockchain กับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์

– ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เมื่อสินค้ามีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่จะช่วยลดปัญหาการถูกปฏิเสธจากผู้ซื้อ การปลอมปนสินค้า และการถูกสวมสิทธิใบอนุญาต ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางราคา ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ตลอดจนเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออก สำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออก

– ตอบสนองความต้องการข้องผู้ซื้อ (Demand) พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ก่อให้เกิดกระแสรักสุขภาพและอาหารปลอดภัยซึ่งกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่จะนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้วยเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อสินค้าเกษตร (Demand) ที่อยู่ปลายน้ำให้สามารถทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการทางการผลิตและแปรรูปต่างๆ
ผ่านระบบที่มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้

3. การต่อยอดเพื่อยกระดับการค้า

สนค. มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนโครงการ Blockchain เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร : สินค้าข้าวอินทรีย์ ให้เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของระบบการผลิตและการค้าสินค้าข้าวอินทรีย์ และต่อยอดไปยังสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ ในระยะยาวควรมีการเชื่อมโยงกับระบบการค้าส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงิน การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และระบบการขอใบรับรองหรือใบอนุญาตอื่นๆ เพื่อเป็นการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า ให้สามารถอำนวยความสะดวกทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนทางการค้า สร้างความน่าเชื่อถือและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าจากการมีมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้ นำไปสู่การขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถในการสร้างผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และมีความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม การยกระดับระบบการค้าของประเทศจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการและการมีร่วมจากทุกที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐาน และหน่วยงานวิชาการ

อ้างอิง :

  • การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยเรียงตามมูลค่า http://www.ops3.moc.go.th/export/recode_export_rank/
  • ไทยผลิตเกษตรอินทรีย์รั้งอันดับ7 ของเอเชีย เร่งพัฒนาเพิ่มพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ https://www.posttoday.com/economy/news/593048

Login