หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > 3 ประเทศสมาชิก RCEP ครองตลาดนำเข้าของกัมพูชามากกว่าร้อยละ 70

3 ประเทศสมาชิก RCEP ครองตลาดนำเข้าของกัมพูชามากกว่าร้อยละ 70

 

  • จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา หรือ GDCE ระบุว่า จีน เวียดนาม และไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มาตลาดกัมพูชา โดยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2566 มีมูลค่ารวมกว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ คิดเป็นร้อยละ มากกว่า 70 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา
  • ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ปี 2566 กัมพูชานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวม มูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกัมพูชานำเข้าจาก จีน เวียดนาม และไทย มีมูลค่ากว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 71.20 ของการนำเข้าทั้งหมด
  • ทั้งนี้ กัมพูชานำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่ามากกว่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 44.30 เวียดนาม มูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15 และไทย มูลค่ามากกว่า 1.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 11.90 นอกจากนี้ กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทเป เกาหลีใต้ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ด้วย เป็นต้น
  • นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า จีน เวียดนาม และไทย เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มาตลาดกัมพูชา และมีความสำคัญสำหรับกัมพูชามาก สินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากทั้ง 3 ประเทศ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการภายในประเทศ แต่ยังนำมาเสริมกระบวนการการผลิต การแปรรูป หรือการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
  • คาดว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การนำเข้าของกัมพูชาจากทั้ง 3 ประเทศก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออก และด้วยความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชนตลอดจนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้การค้าของกัมพูชากับประเทศทั้ง 3 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับจีน กัมพูชาเป็นสมาชิก ASEAN รวมทั้ง กัมพูชายังเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อีกด้วย

ข้อมูลที่น่าสนใจของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา

1)  ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2566 จีน เวียดนาม ไทย นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมากกว่า 13.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2) ในปี 2565 กัมพูชานำเข้าสินค้ามูลค่ากว่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก จีน เวียดนาม และไทย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.93 ของการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ โดยมีมูลค่ารวมเกือบ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ความเห็นของสำนักงานฯ

  1. ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนักในขณะนี้ การทำการค้าระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคเดียวกันมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชามีอัตราการเติบโตของกำลังการผลิตภายในประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนเพื่อรองรับการแปรรูปของสินค้าและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีกับหลายประเทศ เช่น FTA กับ เกาหลีใต้ และจีน GSP กับสหราชอาณาจักร และ EBA กับสหภาพยุโรป พร้อมทั้งยังมีกรอบ RCEP และปัจจุบันการค้าระหว่างกัมพูชากับจีน เวียดนาม และไทย ยังดำเนินไปได้ดีมาก โดยไทยเป็นประเทศอันดับที่ 3 รองจากเวียดนาม และจีน ที่ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามากที่สุด บ่งบอกถึงศักยภาพทางด้านการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยที่มีนัยสำคัญ
  2. นอกจากนี้ เวียดนามและไทยมีพรมแดนติดกับกัมพูชา และจีนเป็นประเทศแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งทำให้ได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ และการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง รวมทั้งปัจจุบันกัมพูชามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้ากับประเทศที่ติดชายแดน เช่น ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ พนมเปญ-บาเวต การเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างกัมพูชาและไทย และการก่อสร้างและขยายท่าเรือต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจ สามารถพิจารณาศึกษาเพื่อมาลงทุนหรือค้าขายกับกัมพูชาได้ โดยสินค้าไทยยังเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชา เนื่องจากมีคุณภาพและราคาที่สามารถจับต้องได้ เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ญีปุ่น และสภาพยุโรป ที่มีราคาค่อนข้างสูง

—————————

ที่มา: Phnom Penh Post

กันยายน 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login