ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้การย้ายฐานไปลงทุนในอาเซียนและไทยคึกคักเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากร ต่างก็มุ่งหน้าไปสู่ประเทศไทยมากขึ้น ล่าสุด ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายด้านการศึกษาแห่งใหม่ของคนรุ่นใหม่ของไต้หวัน จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ในช่วงระหว่างปี 2561-2565 จำนวนนักศึกษาไต้หวันที่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล ได้เลือกเดินทางไปศึกษาต่อหรือฝึกงานที่ประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 1,300 คน ถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน (ครอบคลุมอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) นอกจากนี้ เหล่าผู้ปกครองที่เป็นชนชั้นกลางในประเทศจีน ต่างก็นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในโรงเรียนนานาชาติของไทย โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จากสถิติในเดือนมีนาคมปีนี้ จำนวนร้อยละ 68 ของนักเรียนต่างชาติจำนวน 715 คน เป็นชาวจีน ความนิยมในการไปเรียนต่อในประเทศไทยทำให้มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของโรงเรียนแห่งนี้พุ่งสูงขึ้นถึง 2 เท่าภายในเวลาเพียงปีเดียว จนมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำให้กลายเป็นสถานศึกษาที่มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในโลกในปีนี้
เหตุใดเหล่าผู้ปกครองทั้งจีนและไต้หวันต่างเลือกไปเรียนต่อในประเทศไทย คำตอบที่ได้คือ Cost Performance หรือความคุ้มทุนของการไปเรียนต่อในประเทศไทยถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนทั้งหมด โดยหากยกตัวอย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชื่อดังของไทย ซึ่งจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS World University Rankings 2024 ของประเทศอังกฤษชี้ว่า จุฬาฯ อยู่ในอันดับที่ 211 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่สูงกว่า มหาวิทยาลัยชื่อดังของไต้หวันอย่าง National Cheng Kung University หรือ National Tsinghua University เสียอีก แสดงให้เห็นว่า ด้านการศึกษาของไทยเท่าเทียมกับระดับสากล นอกจากนี้ ในการจัดอันดับ Most and Least Expensive City in the World 2023 ของ Mercer ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ชี้ว่า ในจำนวน 227 เมืองทั่วโลกที่ทำการสำรวจ กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับ 105 โดยมีค่าครองชีพต่ำกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 1 และ 2 เป็นอย่างมาก
จากการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไต้หวันที่เลือกไปศึกษาต่อในประเทศไทย ต่างก็เห็นว่า ไทยถือเป็นช่องทางสำคัญที่ในการเข้าสู่ตลาดด้านบุคลากรระดับนานาชาติของเหล่าบริษัทข้ามชาติในเอเชีย อีกทั้งการศึกษาหลักสูตรนานาชาติของไทยก็ได้มาตรฐานและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยเงินเดือนของบริษัทข้ามชาติในไทยก็ไม่ได้น้อยกว่าในไต้หวัน นอกจากนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมในการทำงานของไทยก็มีความยืดหยุ่น ทำให้การมาศึกษาต่อในประเทศไทยถือเป็นจุดริเริ่มในการที่จะเข้าทำงานในบริษัทข้ามชาติของเอเชียได้เป็นอย่างดี
ที่มา : Economic Daily News / Business Weekly (August 31, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
นอกเหนือจากปัจจัยหลักในด้านผลประโยชน์จากการค้าและการลงทุน ที่ดึงดูดให้ชาวไต้หวันเลือกลงทุนในประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยยังมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของไทยและเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดึงดูดให้ไทยเป็นจุดหมายด้านการศึกษาสำหรับชาวไต้หวัน เช่น ความเป็นมิตรของไทย การที่คนไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับไต้หวัน อาหารไทยที่ถูกปากชาวไต้หวันหลายๆ คน ความคุ้มทุนของค่าครองชีพและหน่วยกิจ ประกอบกับการที่ไทยมีสภาพสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ภาษาอังกฤษ การศึกษาของไทยจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการย้ายฐานการลงทุนเข้าไปยังไทยเพิ่มมากขึ้น
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)