หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ไต้หวันคาด ลงนาม US-Taiwan BTA ช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ไต้หวันคาด ลงนาม US-Taiwan BTA ช่วงครึ่งแรกของปีนี้

นางแคทเทอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ภาพจาก US-China Business Council)

เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา นางแคทเทอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ประกาศความคืบหน้าการเจรจาแผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21 (U.S. – Taiwan Initiative on 21st Century Trade) ซึ่งเปิดการเจรจารอบแรกในเดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมาว่า การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการทำข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับไต้หวันด้วย

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจและการค้าจากสภาบริหารของไต้หวันเปิดเผยว่า ทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ มีความพอใจต่อความคืบหน้าของการเจรจาเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้การเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การบังคับใช้กฎหมายที่ดี ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ การต่อต้านการทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวง  รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับผู้ประกอบการ SMEs ต่างก็มีการเห็นพ้องในทางลายลักษณ์อักษรกันแล้ว โดยไต้หวันตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคี (Bilateral Trade Agreement: BTA) ระหว่างกันได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

ในส่วนของการเตรียมลงนามในข้อตกลงหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน นักวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องชี้ว่า ปัจจุบัน ไต้หวันมีการลงนามในข้อตกลงแบบนี้กับหลายประเทศ โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดสำคัญที่นักลงทุนไต้หวันเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักลงทุนไต้หวัน หากแต่การลงนามในข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับ BTA ถือเป็นสองเรื่องที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน

ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวของนางแคทเทอรีน ไท่ ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามเกี่ยวกับโอกาสที่ไต้หวันจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)  ด้วย ซึ่ง นางแคทเทอรีน ชี้ว่า แม้ไต้หวันจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งกรอบ IPEF หากแต่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเจรจาทวิภาคีกับไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการค้าระหว่างกัน จึงหวังว่าจะสามารถอาศัยความร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบทวิภาคีในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากไต้หวันของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันกลายมาเป็นแหล่งนำเข้าใหญ่อันดับที่ 8 ของสหรัฐฯ แม้ไต้หวันและสหรัฐฯ ยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันแต่อย่างใด ดังนั้น หากไต้หวันสามารถลงนามใน BTA กับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิชาการของไต้หวันเห็นว่า การลงนามใน BTA กับสหรัฐฯ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตามกฎหมายของสหรัฐฯ แล้ว ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับคู่ค้าใดๆ ต้องผ่านขั้นตอนการออกเป็นกฎหมาย Trade Promotion Authority ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของสหรัฐฯ การทำข้อตกลง BTA ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login