หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > โอกาสของอาหารทะเลไทยในสภาวะสงครามการค้า

โอกาสของอาหารทะเลไทยในสภาวะสงครามการค้า

โอกาสของอาหารทะเลไทยในสภาวะสงครามการค้า

                    นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งสินค้าอาหารทะเลปรุงแต่ง โดยจีนขึ้นภาษีสินค้าอาหารทะเลที่นำเข้าจากสหรัฐฯ 222 รายการ (พิกัดศุลกากร 8 หลัก) ในอัตราร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ การขึ้นภาษีสินค้าอาหารทะเลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขึ้นภาษีในสินค้าหลายชนิดจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าไอทีและสินค้าทรัพย์สินทางปัญญาของจีน 

                    การที่จีนขึ้นภาษีสินค้าอาหารทะเลจากสหรัฐฯ จะทำให้สินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าอาหารทะเลจากไทยแข่งขันในตลาดจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้าโลกและได้ดุลการค้าจีนอยู่แล้ว ได้แก่ กลุ่มสินค้าจำพวกกุ้งและปู ทั้งแบบมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง ใส่เกลือ หรือรมควัน โดยในปี 2560 จีนนำเข้าสินค้าจำพวกกุ้งและปูจากทั้งโลกมากกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากสหรัฐฯ และไทยเป็นมูลค่า 290 และ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ไทยส่งสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปโลกเป็นมูลค่าสูงถึง 1,160 เหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกไทยจึงมีโอกาสทำตลาดในจีนได้อีกสำหรับสินค้ากลุ่มนี้

                    ถึงแม้ว่าสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน สนค. เห็นว่า เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากขึ้น ได้แก่ ปลาหมึกแช่แข็ง ในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าปลาหมึกแช่แข็งจากโลกเป็นมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าจากไทยเพียง 2 แสนเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยมีศักยภาพสามารถส่งออกปลาหมึกแช่แข็งไปโลกได้ถึงปีละ 290 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเนื้อปลาแช่แข็ง จีนนำเข้าเนื้อปลาแช่แข็งจากโลกเป็นมูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ และไทย มูลค่า 43 และ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ในขณะที่ไทยสามารถส่งออกเนื้อปลาแช่แข็งไปโลกได้ถึงปีละ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นว่าไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกปลาหมึกแช่แข็งและเนื้อปลาแช่แข็งไปจีนมากขึ้น และตลาดจีนยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับสินค้าจากไทย

 

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login