หน้าแรกTrade insightยางพารา > โควิดฉุดส่งออกหมอนยางอืด “จุรินทร์” เซ็น MOU เองเหลือส่งอีก 18 ล.ใบ

โควิดฉุดส่งออกหมอนยางอืด “จุรินทร์” เซ็น MOU เองเหลือส่งอีก 18 ล.ใบ

โควิด-19 ฉุดส่งออก “หมอนยางพารา” วืดเป้าจุรินทร์ หลังขนเอกชนตะลุยลงนามขาย 20 ล้านใบ ส่งไปได้จริงแค่ 1.7 ล้านใบ กรมส่งออกมั่นใจส่งออกพฤษภาคม 2563 ฟื้นตัวดีขึ้น ด้าน กยท.ชงมาตรการประกันรายได้ชาวสวนยางเฟส 2 เข้า ครม. 9 มิ.ย.นี้ คาดใช้วงเงิน 27,000 ล้านบาท ช่วยเหลือได้ 1.8 ล้านราย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ภายหลังที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ได้มุ่งดำเนินนโยบายให้ความสำคัญต่อการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรในฐานะเซลส์ประเทศ โดยการนำคณะภาคธุรกิจเยือนหลายประเทศ เช่น จีน สหภาพยุโรป สหรัฐ โดยในการเยือนตุรกี ทางบริษัท JSY LATEX จากนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับบริษัท REPKAUCUK จากตุรกี ได้เจรจาตกลงซื้อขายหมอนยางพาราได้ 20 ล้านใบ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนเริ่มต้นส่งมอบตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 เป็นต้นมา แต่ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกหมอนยางพารา (พิกัด 94049090) จากข้อมูลกรมศุลกากรในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 2563 ไม่ปรากฏว่ามีการส่งออกเลย

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความคืบหน้าการส่งออกหมอนยางพาราภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทยอยลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับจีน ตุรกี และอินเดีย ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 โดยมีเป้าหมายจะส่งออกหมอนยางพาราแบบสำเร็จรูปได้รวม 10 ล้านใบ ทั้งนี้ กรมได้ติดตามการส่งมอบหมอนยางพาราไปยัง 3 ประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562-เดือนเมษายน 2563 ส่งออกได้ 1.7 ล้านใบ มูลค่า 1.7 พันล้านบาท โดยลอตแรกเดือนธันวาคม-มกราคม 2563 ส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 800,000 ใบ ลอตที่สอง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 40,000 ใบ ส่วนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาสามารถส่งออกได้เพิ่ม 20,000 ใบ

“ยอดการที่ส่งออกหมอนยางพาราในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งมอบสินค้าชะลอตัว ประกอบกับการระวังการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการทำตลาดของประเทศผู้นำเข้าชะลอตัวลงด้วย แต่เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การส่งออกจะคล่องตัวมากขึ้น ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคจีนมั่นใจว่าการส่งออกหมอนยางพาราจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2563 น่าจะฟื้นตัวดีมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น”

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นไปตามเป้าหมายการผลักดันการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยครั้งนั้นกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน 5 ราย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปลงนาม MOU กับผู้นำเข้าจีน 4 ราย ผู้นำเข้าอินเดีย 1 ราย และผู้นำเข้าตุรกี 2 ราย มีเป้าหมายผลักดันการส่งออกหมอนยางพาราให้ได้ 10 ล้านใบ แต่การส่งออกหมอนยางพาราไปในประเทศดังกล่าวนั้นไม่ได้วางเป้าหมายว่าแต่ละประเทศจะส่งออกไปเท่าไร ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายและความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ดังนั้น ยอดส่งออกหมอนยางพาราไปแต่ละประเทศจึงไม่เท่ากัน

ด้านแหล่งข่าวการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ได้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าตุรกี ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อหมอนยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งหลังจากทำ MOU แล้วขณะนั้นมอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ ไปติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการส่งมอบสินค้าตามสัญญา โดยจะเริ่มส่งมอบในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 นี้ เดือนละ 400,000 ใบ ยอมรับว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คอนเเท็กต์ลูกค้าชะลอ อาจต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กยท.ยังมีโครงการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของชาวสวนยาง อาทิ แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางโดยมีสินเชื่อยางพาราให้ผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 โครงการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศ ล่าสุดร่วมกับกระทรวงคมนาคม รวมไปถึงโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางเฟส 2 ที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคาดว่าจะเสนอ ครม.ในสัปดาห์นี้

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ภาครัฐให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงโควิด-19 ได้ดี แม้จะยังไม่สามารถส่งออกได้มากนัก แต่การช่วยเหลือระยะยาวโดยเฉพาะผลักดันโครงการแปรรูปให้มากขึ้นจะดียิ่งกว่า ซึ่งเร็ว ๆ นี้ สยยท.ในนามเกษตรกรจะได้เสนอโครงการขยายวงเงินกู้เพื่อโรงงานแปรรูปถุงมือยาง ต่อกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยขอให้รัฐบาลมุ่งเน้นการใช้น้ำยางสดจากเกษตรกรไทยให้มากขึ้นแทนการส่งออกไปมาเลเซีย

รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนการเดินหน้าดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยางพารานั้น ในวันที่ 9 มิ.ย. การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ตามที่ กยท.เสนอขอชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง 27,000 ล้านบาท จากที่ กยท.ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ 43,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราให้เกษตรกร 1.8 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการประกันรายได้ระยะที่ 1 ที่มีเกษตรกร 1.7 ล้านราย เนื่องจากรัฐบาลอนุมัติให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิเข้าร่วมโครงการได้ ทั้งนี้ โครงการได้กำหนดเงื่อนไขชดเชยรายได้ รายละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นเวลา 5 เดือน โดยกำหนดราคาประกันน้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อ กก. ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาทต่อ กก. แบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างเจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% เช่นเดิม

Login