Masan Group Corporation (HOSE: MSN) เปิดเผยผลประกอบการทางการเงินที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยมีรายได้สุทธิสูงถึง 37.3 ล้านล้านด่ง (1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
CrownX (TCX) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้าปลีกสำหรับผู้บริโภคของ Masan ที่รวม WinCommerce (WCM) และ Masan Consumer Holdings (MCH) เข้าร่วมด้วยกัน ในครึ่งปีแรกของปี 2566 รายได้อยู่ที่ 26.8 ล้านล้านด่ง (1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และใน ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 13.5 ล้านล้านด่ง (569.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6
แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคจะลดลงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการขาย แต่รายได้ของ WinCommerce ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในครึ่งแรกของปี 2566 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ 2 รายรับสุทธิของ WinCommerce สูงถึง 14.5 ล้านล้านด่ง (611.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในครึ่งปีแรกของปี 2566 และ 7.2 ล้านล้านด่ง (303.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
WinCommerce เปิด WinMart+ เพิ่ม 152 แห่ง และ WinMart เพิ่ม 2 แห่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 โดยรวมทั้งหมด 3,511 แห่งทั่วประเทศ ทั้งมินิมาร์ทและซูเปอร์มาร์เก็ต
WinCommerce ปรับปรุงอัตรากำไรขั้นต้นอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 24.8 ในไตรมาส 2 จากอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 22.1 ในไตรมาส 1 เป็นผลให้ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่ 2 จากร้อยละ 1 ในไตรมาสที่ 1 โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2566 สูงถึงร้อยละ 3.6 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและแม้ความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง
Masan มีรายได้สุทธิมากกว่า 12.9 ล้านล้านด่ง (544.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ในครึ่งปีแรกของปี 2566 และประมาณ 6.7 ล้านล้านด่ง (282.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในไตรมาสที่ 2 และรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ในครึ่งแรกของปี 2566 และร้อยละ 21.7 ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในครึ่งปีแรกของปี 2566 รายได้จากเครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และของใช้ในบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1 ส่วน Phúc Long Heritage (PLH) มีรายรับลดลงร้อยละ 4.6 ในครึ่งแรกของปี 2566
ในไตรมาสที่ 2 ความท้าทายยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ แม้ว่าการเติบโตของ GDP ของเวียดนามจะสูงถึงร้อยละ 4.1 ซึ่งดีขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ 1 แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 6.5 สำหรับทั้งปี 2566 ส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจยังคงระมัดระวังในครึ่งปีแรกของปี 2566
โดยส่วนใหญ่ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามมีผลการดำเนินที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการทางการคลังที่สนับสนุน (เพิ่มการลงทุนภาครัฐ การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ) คาดว่าจะเป็นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
(จาก https://vietnamnews.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
Masan Group ยักษ์ค้าปลีกเวียดนาม มีธุรกิจร้านซูเปอร์มาร์เก็ต WinMart และร้านสะดวกซื้อ WinMart+ ประมาณ 3,500 สาขา โดยกลุ่มบริษัทมีแผนจะปิดร้านที่ทำรายได้น้อย และเดินหน้าขยายร้านใหม่ ตั้งเป้าให้มี 10,000 สาขาภายในปี 2568 ทั้งในรูปแบบการลงทุนเอง และรูปแบบแฟรนไชส์ Masan Group เป็นกลุ่ม conglomerate รายใหญ่ของเวียดนาม ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจอาหารสัตว์, ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์, ผลิตแร่ธาตุใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ภายใต้กลุ่มบริษัทต่างๆ ในเครือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตของการค้าปลีกเป็นอย่างมากและได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ อย่าง Central Retail ของประเทศไทยได้ทุ่มเงิน 3 หมื่นล้านบาท (861 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อขยายร้านค้าในเวียดนามเป็น 2 เท่า หรือมากกว่า 710 แห่ง ภายในระยะเวลา 5 ปี ขณะที่ Aeon ของญี่ปุ่นวางแผนเตรียมเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 100 แห่งในฮานอยและเมืองอื่นๆ ภายในปี 2568 นอกจากประชากรเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้บริโภคชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม จะเป็นโอกาสของภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งค้าปลีก ในการขยายตลาดและฐานลูกค้า เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” เติบโตเร็วที่สุด ส่งผลให้ตลาด “e-Commerce” มีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ทั้งผู้เล่นท้องถิ่น และผู้เล่นระดับโลกเข้ามาแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกออนไลน์ จากภาพการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ต่างชาติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกในเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เมือง และความหนาแน่นของประชากร โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว กลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสำคัญของตลาดค้าปลีก การที่มีผู้ค้าปลีกจากหลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุนเปิดร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าในเวียดนามมากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยให้มีช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดเวียดนามที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรเลือกช่องทางในการวางจำหน่ายให้เหมาะสมกับประเภทสินค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)