“แพทองธาร” นัดประชุมรอบ 2 ประกาศชู เทศกาล “World Water Festival-The Songkran Phenomenon” ตีคู่เสนอ 54 โครงการ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ปังต่อเนื่อง
“แพทองธาร” ตอกย้ำมุ่งมั่นขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ประกาศความคืบหน้าแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ครบแล้ว 14 คณะ ของแต่ละสาขาทั้งหมด 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เสนอโครงการรวม 54 โครงการ งบประมาณรวม 5,164 ล้านบาท พร้อมดันซอฟต์พาวเวอร์สาขาเฟสติวัลต่อเนื่อง จัดเทศกาล World Water Festival-The Songkran Phenomenon ตลอดเดือนเมษายน 2567 ทั้งเดือนทั่วประเทศ หวังดึงกระแสความเป็นไทยส่งต่อซอฟต์พาวเวอร์ไปทั่วโลก
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นัดประชุมคณะกรรมการฯ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อติดตามและรับฟังความคืบหน้าการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการให้พลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรมและความเป็นไทยสามารถชนะใจชาวโลกได้ ผ่านทางกลไกต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น เช่น การส่งเสริม OFOS หรือ การจัดตั้งองค์กร THACCA ตลอดจนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อยทั้งหมด 14 คณะ ที่ประธานกรรมการฯ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นกลไกในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน จำนวน 12 คณะ คณะอนุกรรมการอำนวยการจัดการประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power Forum) 1 คณะ และคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีก 1 คณะ
หลังจากได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในแต่ละสาขาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ละสาขาได้จัดประชุมระดมสมอง และ workshop เชิงลึก เพื่อกำหนดแนวทางและโครงการให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนทั้งในช่วงเวลา 100 วัน 6 เดือน และ 1 ปี โดยจะคำนึงถึงความสอดคล้องกับภารกิจของแต่ละหน่วยงานเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแต่ละสาขาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด อีกทั้ง ให้ความสำคัญกับการปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียบ เพื่อปลดล็อคและอำนวยความสะดวกมากขึ้น
นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “วันนี้ในที่ประชุมทางคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแผนงานโครงการภายใต้ทั้ง 11 สาขาในเบื้องต้นแล้วจำนวน 54 โครงการ กรอบวงเงิน 5,164 ล้านบาท และขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเสนอโครงการดังกล่าวพร้อมกรอบงบประมาณต่อไปยังสำนักงบประมาณตามขั้นตอน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป”
โครงการภายใต้อุตสาหกรรมทั้ง 11 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการ ได้แก่ สาขาเฟสติวัล เสนอให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลจำเป็นในอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ การจัดประชุม Thai Restaurant Ambassador Network และเน้นให้เกิดการกระจายการสื่อสารไปทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ภายใต้งบประมาณ 1,009 ล้านบาท (ซึ่งยังไม่ได้รวมงานงบประมาณการจัดงาน World Water Festival-The Songkran Phenomenon) สาขาท่องเที่ยว เสนอให้มีการท่องเที่ยวในรูปแบบ Be My Guest พร้อมเน้นให้มีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ในแต่ละจังหวัด ภายใต้งบประมาณ 711 ล้านบาท สาขาอาหาร ต้องการให้ริเริ่มให้หนึ่งหมู่บ้าน มีหนึ่งเชฟอาหารไทย เสนอให้มีการจัดทำช่องเพื่อประชาสัมพันธ์อาหารไทย Thai Food Channel ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท สาขาศิลปะ ขอให้มีการจัดทำแพลตฟอร์ม Thailand Art Move ปรับปรุงอัตราภาษีศิลปะ และเสนอให้จัดตั้งสภาศิลปะแห่งประเทศไทย ภายใต้งบประมาณ 375 ล้านบาท สาขาออกแบบ เสนอให้คัดเลือกนักออกแบบสู่ Thai 100 รายแรกของไทย ภายใต้งบประมาณ 166 ล้านบาท สาขากีฬา อยากขอให้มีการพัฒนาองค์ความรู้บุคลากรในวงการมวยไทย จัดแข่งขันมวยไทย และให้มีการรับรองมาตรฐานกีฬามวยไทย ภายใต้งบประมาณ 500 ล้านบาท สาขาดนตรี เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนผู้จัด/ศิลปิน (Music Exchange) ระดับนานาชาติ พร้อมพัฒนาหลักสูตรเฉพาะด้านดนตรี และมีเวทีเจรจาธุรกิจ ภายใต้งบประมาณ 144 ล้านบาท สาขาหนังสือ จะมีแผนเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Taipei International Book Exhibition 2024 และสร้าง Book Landmark ภายใต้งบประมาณ 69 ล้านบาท สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เสนอให้มีการสนับสนุนการเข้าร่วมงานเทศกาลนานาชาติและอำนวยสะดวก ภายใต้งบประมาณ 545 ล้านบาท สาขาแฟชั่น เสนอให้มีการคัดเลือก Fashion Alliance พร้อมรวบรวมข้อมูล Material District ภายใต้งบประมาณ 268 ล้านบาท และสาขาเกม ขอให้มีการจัดทำข้อมูล/สถิติอุตสาหกรรมเกมในเชิงลึก พร้อมทั้งอยากให้มีการก่อสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งชาติ ภายใต้งบประมาณ 374 ล้านบาท
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล กล่าวว่า “ไทยเตรียมจะจัดงานมหกรรมเทศกาล World Water Festival-The Songkran Phenomenon โดยขอใช้ชื่อนี้เป็นชื่อสำหรับการทำงานก่อน ส่วนชื่อเทศกาลจริงๆ จะกำหนดอีกครั้ง และมองว่างานนี้เป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่แห่งปี โดยจะจัดขึ้นตลอดเดือนเมษายน ปี 2567 ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจากทั่วโลกให้มาร่วมงาน อีกทั้ง คาดหวังให้งานสงกรานต์ของไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลกและจะสามารถต่อยอดงานให้เป็น IP Festival ต่อไปในอนาคตได้” โดยตั้งเป้าทำรายได้กว่า 35,000 ล้านบาท โดยมีแผนโครงงานเบื้องต้นที่จะมีการจัดกิจกรรมหลายกิจกรรม โดยให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง เช่น งาน Soft Power Avenue ณ บริเวณถนนราชดำเนิน ที่แสดงการรวมพลังของอีก 10 อุตสาหกรรมที่เหลือภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติพร้อมกันด้วยในคราวเดียวกัน และจะมีการจัดขบวนแห่รวบรวมของดี Parade Mardi Gras แต่ละจังหวัด 77 จังหวัด เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน นอกจากนี้จะมีเวทีโดยรอบ 3 เวทีหลัก ได้แก่ บริเวณเวทีผ่านฟ้า ณ ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ จะมีการจัดกิจกรรมตลาดไทยย้อนยุค การแสดงบนเวที การแสดงดนตรีไทย และกิจกรรมลีลาศ อีกทั้ง บริเวณลานคนเมือง จะมีการจัดกิจกรรม Bangkok Art Market ตลอดจนกิจกรรมของดีทั่วไทย กิจกรรมสายมู และมหกรรมการแสดงดนตรีระดับโลกบนเวทีบริเวณสนามหลวงอีกด้วย ยิ่งไปกว่านี้ คาดว่าจะมีการฉลองงาน World Water Festival-The Songkran Phenomenon ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ อาทิ งานสงกรานต์กรุงเก่า (อยุธยา) ประเพณีปีใหม่เมืองและประตูท่าแพ (เชียงใหม่) งานอันดามันสงกรานต์เฟสติวัล (ภูเก็ต) เทศกาลดอกคูณเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว (ขอนแก่น) งานวันไหลนาเกลือ (ชลบุรี) และงานวันไหลบ้านบึง (ระยอง) เป็นต้น
อีกทั้ง ได้กำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งต่อไป ครั้งที่ 3 ในวันที่ 4 มกราคม 2567 ณ กระทรวงการต่างประเทศ
*************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างเทศ
ธันวาคม 2566
อ่านข่าวฉบับเต็ม : “แพทองธาร” นัดประชุมรอบ 2 ประกาศชู เทศกาล “World Water Festival-The Songkran Phenomenon” ตีคู่เสนอ 54 โครงการ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ปังต่อเนื่อง