นาย Tiff Mackkem ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศแคนาดามีมติสั่งปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่ธนาคารกลางสั่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของแบงค์ชาติที่ระดับร้อยละ 2.0
ซึ่งการประกาศลดดอกเบี้ยเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจในประเทศคาดการณ์ไว้ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจแคนาดา ณ เดือนเมษายน 2567 แสดงอัตราเงินเฟ้อปรับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 2.9 ในเดือนก่อนหน้า จากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร ธุรกิจบริการและสินค้าคงทน
ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารทางฝั่งยุโรป อาทิ แบงค์ชาติสวีเดน และแบงค์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลงไปบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงิน และการแข่งขันทางธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมไปถึงภาคครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ มองว่าเป็นจุดเริ่มของการผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินในประเทศ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการค้าอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแคนาดาได้รายงานจีดีพีประจำไตรมาสแรกของปี 2567 เติบโตเพียงร้อยละ 1.7 เป็นเหตุจากเศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยด้านธนาคารพาณิชย์รายหลักอย่าง ธนาคาร RBC, BMO, TD Bank และ CIBC ต่างพากันลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (prime rate) เหลือร้อยละ 6.95 จากเดิมร้อยละ 7.20
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธนาคารฯ กล่าวว่า การตัดสินใจลดอัตราดอดกเบี้ยอยู่บนพื้นฐานของการประเมินทิศทางเงินเฟ้อและข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยด้านนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า แบงค์ชาติแคนาดาอาจจะมีการปรับดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 อีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 24 ก.ค. 67
สำหรับผู้บริโภคในแคนาดาถือเป็นข่าวดีมากหลังจากธนาคารกลางสั่งลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะผู้ที่กู้สินเชื่อสำหรับที่พักอาศัย ซึ่งครอบครัวชาวแคนาดารายหนึ่งกล่าวว่า ครอบครัวตัวเองได้ตัดสินใจซื้อบ้าน 1 แห่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดยขณะนั้นมีการชำระค่าผ่อนบ้านเดือนละ 3,600 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 97,200 บาท) แต่ปัจจุบันค่าผ่อนบ้านได้เพิ่มสูงขึ้นถึงเดือนละ 5,793 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 156,411 บาท) ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของครอบครัวให้มีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในแต่ละครั้งจะช่วยให้ลดค่าดอกเบี้ยได้ราว 142 ดอลลาร์แคนาดา (ราว 3,834 บาท) ต่อเดือน จึงเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคได้ส่วนหนึ่งในช่วงเวลาขณะนี้
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ แม้ว่าธนาคารกลางแคนาดาจะมีการปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงมา แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูงในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประชาชนและธุรกิจต่างๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งในแง่กลยุทธ์การจัดการ การขาย และการเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยเห็นว่ารูปแบบการค้าที่เน้นสินค้าราคาประหยัด อาทิ ร้านจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด สินค้าเฮ้าส์แบรนด์กำลังได้รับความนิยม และมีผลประกอบการในแคนาดาดีมาก ในการนี้ สคต. แนะว่า ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์การค้าต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมกับความท้าทายที่มีเข้ามาเสมอ มีการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพเหมะกับราคา ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่า เพื่อคงโอกาสนำเสนอสินค้าในแคนาดาได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มาของบทความ https://www.cbc.ca/news/business/bank-of-canada-key-interest-rate-june-5-1.7225076
โดย… สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แบงค์ชาติแคนาดาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี