หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > แนวโน้มอุตสาหกรรมกาแฟในตลาดจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมกาแฟในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.hotelex.cn/press/archives/17116

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขนาดตลาดกาแฟในจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ขนาดมูลค่าในตลาดกาแฟในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 381.7 พันล้านหยวน เนื่องจากการขับเคลื่อนทั้งฝั่งอุปทานที่มีผู้ประกอบการเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นและฝั่งอุปสงค์ที่มีปริมาณการบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2566 ตลาดกาแฟสำเร็จรูปของจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 617.8 พันล้านหยวน

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/31834

การแข่งขันทางการตลาดในอุตสาหกรรมกาแฟของจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น ในปี 2565 แบรนด์กาแฟ  3 แบรนด์ที่มีสาขาเปิดมากที่สุด ได้แก่ Ruixing (瑞幸) เปิดใหม่ 2,939 ร้าน Lucky Coffee (幸运咖)   เปิดใหม่ 1,521 ร้าน และ McCafe (麦咖啡) เปิดใหม่ 763 ร้าน จากข้อมูลของแอพ Tianyancha (天眼查) ปัจจุบันมีบริษัทร้านกาแฟและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 180,000 แห่งในประเทศจีน และในปีนี้มีบริษัทใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 14,800 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.79 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้ ยอดสั่งซื้อกาแฟในประเทศจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 250 เนื่องจากได้รับปัจจัยที่เอื้ออำนวย ทั้งการฟื้นตัวของการบริโภค ความนิยมในการบริโภคกาแฟเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และบริษัทใหม่ ๆ จำนวนมากได้เข้าสู่ตลาดกาแฟเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบัน ตลาดกาแฟในเมืองชั้นที่ 1 และ 2 มีการแข่งขันสูง แบรนด์ดังอย่างเช่น Luckin Coffee และ Starbucks ได้เริ่มขยายสาขาเข้าสู่เมืองชั้นที่ 3 และ 4 และได้เริ่มเปิดตัวกาแฟราคาไม่แพงเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เมืองระดับ 3 และ 4 ได้กลายเป็นตลาดสำคัญในการแข่งขันสำหรับบริษัทกาแฟ และมีโอกาสให้ แบรนด์ใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้

ด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการบริโภคกาแฟของชาวจีน อุตสาหกรรมกาแฟกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แบรนด์ร้านกาแฟใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าขนาดตลาด        จะรักษาอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 27.2 และในปี 2568 ขนาดตลาดกาแฟในจีนจะสูงถึง 1 ล้านล้านหยวน

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/31834

ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน ข้อมูลจากการสำรวจของ iiMedia Research โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,091 คนในปี 2565 พบว่ามีสัดส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟทุกวันสูงถึงร้อยละ 21.5 และเกือบร้อยละ 60      ซื้อกาแฟทุกสัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้นที่ไม่ดื่มกาแฟบ่อย ชาวจีนชอบกาแฟร้อนร้อยละ 43.9       และกาแฟอุณหภูมิห้องร้อยละ 43.1 และผู้ชอบดื่มกาแฟเย็นก็มีค่อนข้างน้อย ในด้านค่าใช้จ่าย ร้อยละ 39.3  มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการบริโภคกาแฟต่อเดือนอยู่ในช่วง 50-100 หยวน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากปีที่แล้ว

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/31834

ช่องทางการขายกาแฟในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบทั้งซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติแบบบริการตนเอง ร้านค้าออนไลน์ และสั่งเดลิเวอรี่ แต่จากการสำรวจ ผู้บริโภคร้อยละ 66.4 ยังคงชอบซื้อกาแฟที่ขายในร้านกาแฟ

ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประสบการณ์และบริการในการดื่มกาแฟมากขึ้น โดยปัจจัย 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวจีนใช้ในการเลือกร้านกาแฟ ได้แก่ สภาพแวดล้อมของร้าน (ร้อยละ 64.6) ทัศนคติในการให้บริการ (ร้อยละ 55.7) และแบรนด์ (ร้อยละ 53.8) ปัจจัยรองลงมาได้แก่รสชาติ ราคา และที่ตั้งร้าน

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/31834

ปัจจัยที่ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างเลือกดื่มกาแฟ ได้แก่ ไขมันต่ำ (ร้อยละ 56.3) คลายความเมื่อยล้า (ร้อยละ 55.3) ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ (ร้อยละ 54.6) คลายความง่วง (ร้อยละ 51.1) และเพิ่มวิตามิน (ร้อยละ 28.2)

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/31834

ประเภทกาแฟที่ชื่นชอบ ได้แก่ คาปูชิโน่และลาเต้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 61.5 และร้อยละ 49.9 ตามลำดับ แต่แนวโน้มของผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันเริ่มเปิดใจให้กับกาแฟประเภทต่าง ๆ มากขึ้น เช่น มอคค่าและกาแฟอเมริกัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนเริ่มมองหารสชาติที่แปลกใหม่และคุณภาพของกาแฟที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้กาแฟที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้น กาแฟฟังก์ชันนอลจึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างสีสันและความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น และกลายเป็นจุดเติบโตใหม่ของอุตสาหกรรมกาแฟ

นักวิเคราะห์ของ iiMedia Consulting เชื่อว่ารายได้ต่อหัวที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและความชอบของผู้บริโภคที่มีต่อกาแฟ จะทำให้การยอมรับของผู้บริโภคในด้านราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเนื่องด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภค กาแฟที่ดูดีและร้านกาแฟประเภทต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจึงยังคงเพิ่มขึ้น และผู้บริโภควัยรุ่นชอบเข้าร้านกาแฟเพื่อถ่ายรูปและโพสในอินเทอร์เน็ต

หากพิจารณาจุดอ่อนของตลาดกาแฟนั้น มีเหตุผลหลายประการที่ชาวจีนบางส่วนไม่ชอบดื่มกาแฟ โดยผู้บริโภคร้อยละ 26 รู้สึกว่าการดื่มกาแฟไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้บริโภคร้อยละ 22.2 ไม่ชอบกลิ่นกาแฟ และร้อยละ 18.5 คิดว่ากาแฟมีผลทำให้สดชื่นเพียงเล็กน้อยและไม่ควรดื่ม

ที่มาภาพ: https://www.foodaily.com/articles/31834

ทิศทางการบริโภคกาแฟรูปแบบอื่น ๆ นั้น ผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 50 จะเลือกซื้อกาแฟแคปซูลในราคา 4-5 หยวน ซึ่งกาแฟแคปซูลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างใหม่ในหมวดกาแฟ เนื่องจากเครื่องชงกาแฟแคปซูลให้ทั้งวความสะดวกและคงรสชาติดั้งเดิมซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค และค่อย ๆ กลายเป็นเทรนด์การบริโภคใหม่ หัวเชื้อกาแฟได้กลายเป็นทิศทางการพัฒนาใหม่ของอุตสาหกรรม ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย บริษัทกาแฟจึงได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในปี 2565 ยอดขายหัวเชื้อกาแฟออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 17 เท่า จำนวนผู้ค้าที่ขายหัวเชื้อกาแฟเพิ่มขึ้น 20 เท่า และยอดขายเติบโตร้อยละ 350  ในตลาดออฟไลน์ที่กำลังจม อีกทั้งเครื่องดื่มชา+กาแฟประเภทใหม่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ การใช้หัวเชื้อกาแฟยังช่วยลดเกณฑ์ของร้านกาแฟและช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ลดต้นทุนการผลิตกาแฟได้

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

ตลาดกาแฟในประเทศจีน เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และยังมีโอกาสในการเข้าสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดได้สูง แต่เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทำให้มีร้านกาแฟเข้าออกจากตลาดเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี ร้านกาแฟที่อยู่ได้จะต้องอาศัยการปรับตัวตลอดเวลา เติมเต็มความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และตามกระแสสังคม ซึ่งผู้บริโภคในปัจจุบันค่อนข้างเปิดรับกาแฟรูปแบบใหม่ ๆ หากผู้ประกอบการไทยต้องการเข้าตลาดกาแฟของจีน ต้องรู้จักนิสัยและความต้องการในการดื่มกาแฟของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด และอาจจะต้องหาเอกลักษณ์ของร้านและแบรนด์ของตนเองให้แปลกใหม่กว่าร้านกาแฟในประเทศจีน เช่น กาแฟที่มี      ความเป็นไทย หรือการตกแต่งร้านที่มีความเป็นไทยเพื่อดึงดูดให้ชาวจีนสนใจและเลือกสั่งซื้อกาแฟจากร้านของตนเอง

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 7 กรกฎาคม 2566

http://www.ce.cn/cysc/sp/info/202307/03/t20230703_38613922.shtml

https://www.163.com/dy/article/HVNLMLAM05561J1R.html

https://www.foodaily.com/articles/31834

https://www.gonyn.com/industry/1501285.html

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login