บริษัทที่ปรึกษา Nielson IQ ได้ทำการสำรวจตลาดและสรุปว่า ตลาดสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งอยู่ในช่วงชะลอตัวหลังจากที่เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ในกลุ่มสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์แช่เย็นมีมูลค่าลดลง 8.2% และปริมาณหน่วยลดลง 15.7% ในขณะที่สินค้าทดแทนเนื้อสัตว์แช่แข็งมีมูลค่าลดลง 3.8% และปริมาณหน่วยลดลง 11.5% โดยในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคมังสวิรัติลดจำนวนลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจัดลำดับความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า ในทางกลับกันการพัฒนาสินค้าและความหลากหลายของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำตลาดสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่ง Neilson เห็นว่าร้านค้าที่วางจำหน่ายสินค้ามีส่วนเป็นอย่างมากต่อการเติบโตของสินค้าแต่ละแบรนด์ในส่วนของการเลือกสินค้าเข้าร้าน รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบสินค้าเป็นรูปแบบพร้อมรับประทานและแช่แข็งจะช่วยให้สามารถวางจำหน่ายเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ในทางกลับกันบริษัทที่ปรึกษา Kantar ได้ทำการสำรวจและสรุปว่า อาหาร Plant-Based ประเภท Take home มีมูลค่ามากขึ้น 7.6% ตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณหน่วยลดลง 1.5% โดยสินค้าที่มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นมีเพียงของขบเคี้ยว (เพิ่มขึ้น 5.6%) และอาหารพร้อมรับประทาน (เพิ่มขึ้น 0.6%) และสินค้า Own label มีการเติบโตมากขึ้นในขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าสินค้า Own label มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.2 พันล้านปอนด์ คิดเป็น 63.3% ของตลาด Plant-Based โดยรวม ซึ่งเป็นการเติบโตที่สอดคล้องกับการเติบโตของสินค้า Plant-Based ที่วางจำหน่ายใน Aldi ที่มีการเติบโตถึง 20.6% และ Lidl ที่มีการเติบโตถึง 27.9% โดยทั้ง 2 ห้างค้าปลีกมีส่วนแบ่งทางการตลาดห้างค้าปลีกในสหราชอาณาจักรรวมกันถึง 11.2%
ผู้บริหารบริษัท Tofoo Co. ให้ความเห็นว่า การกำหนดราคา สินค้า Plant-Based ที่ใช้วัตถุดิบน้อย เช่น เทมเป้ เต้าหู้ หรือสินค้าที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบจะได้เปรียบในการกำหนดราคาที่ต่ำกว่า และการผลิตในประเทศจะช่วยให้สามารถกำหนดต้นทุนได้ดีกว่า โดยยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าสูงขึ้น 6.6% ในขณะที่จำนวนหน่วยที่เลือกซื้ออาจส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างราคาเนื้อสัตว์กับราคาอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้บริโภคสินค้า Plant-Based ลดลงด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม/ ความเห็น สคต.
กระแสความนิยมรับประทานอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ หรือ Plant-Based ในสหราชอาณาจักรเติบโตเป็นอย่างมากโดยมูลค่าตลาดของสินค้า Plant-Based อยู่ที่ 546.4 ล้านปอนด์ โดยมีสินค้า Plant-Based วางจำหน่ายในตลาดเพิ่มกว่า 70 แบรนด์ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตสินค้า Plant-Based เป็นอย่างมาก ในขณะที่ร้านค้าปลีกยังคงจำนวนรายการสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านยังเท่าเดิม และมีรายงานว่าร้านค้าปลีกมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการวางจำหน่ายสูงถึง 35-40% ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้า Plant-Based ต้องหากลยุทธในการปรับตัวต่อตลาดที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาความร่วมมือในการเข้าตลาดสหราชอาณาจักรโดยผ่านการสินค้า OEM เนื่องจากสินค้า Plant-Based ที่เป็น Own label มียอดขายสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: The Grocer, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)