หน้าแรกTrade insightข้าว > แนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร และอาหารในเดนมาร์ก

แนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร และอาหารในเดนมาร์ก

เดนมาร์กมีประชากรรวม 5.94 ล้านคน GDP per capita เดนมาร์กอยู่ที่ 66,983.1 เหรียญสหรัฐ และมีรายได้เฉลี่ย (GNI per Capita) ที่ 76,810 เหรียญสหรัฐ (GDP per capita เฉลี่ยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ 38,411 เหรียญสหรัฐ และ GNI per Capita สหภาพยุโรปเฉลี่ยที่ 48,791 เหรียญสหรัฐ) โดยเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ และกำลังซื้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สินค้าเกษตรและอาหารที่มีความต้องการในเดนมาร์ก มีผลมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. รูปแบบประชากร และการบริโภค: ถึงแม้ว่าเดนมาร์กจะมีประชากรค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่เป็นประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพ และรูปแบบการบริโภคที่สูง ความต้องการอาหารและสินค้าเกษตรจึงได้รับอิทธิพลจากความนิยมในการใส่ใจด้านสุขภาพ จึงให้ความสำคัญกับสินค้าออร์แกนิก รวมทั้งรูปแบบการบริโภคที่นิยมการซื้อสินค้าที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก โดยเลือกซื้อบ่อยๆ มากกว่าการกักตุน เช่น บรรจุภัณฑ์ข้าวที่นิยมในตลาดคือขนาด 1 กก.
2. สินค้าออร์แกนิกและความยั่งยืน: เดนมาร์กเป็นกลุ่มประเทศผู้นำด้านการส่งเสริมสินค้าออร์แกนิกและการทำการเกษตรแบบยั่งยืน จึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้านำเข้ากลุ่มอาหารออร์แกนิกสำคัญที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทย เช่น ถั่ว ผลไม้ ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ผลไม้อบแห้ง กาแฟ น้ำผลไม้ สมุนไพร และเครื่องเทศ ช็อกโกแลต ข้าว และเนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น
3. นโยบายของรัฐบาล: นโยบายและกฎระเบียบของรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความต้องการอาหารและสินค้าเกษตร เดนมาร์กให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน รวมทั้งการรับประกันความปลอดภัยของอาหารและมาตรฐานคุณภาพ มีการให้เงินอุดหนุนและแรงจูงใจแก่เกษตรกรและผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและรักษามาตรฐานคุณภาพสูง เช่น การสนับสนุนการบริโภคปลา และอาหารทะเล 2 ครั้ง/สัปดาห์ (คิดเป็นปริมาณประมาณ 350 กรัม) (Fisk 2 gange om ugen) ตราสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (healthier products) ที่ออกแบบโดยรัฐบาล และนำมาใช้ในเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ คือ Keyhole รายละเอียดสามารถดูได้ที่ https://foodnationdenmark.com/

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสแนวทางและความคิดเห็นของสคต.
1. ถึงแม้ว่าเดนมาร์กจะเปิดกว้างการนำเข้าสินค้าอาหาร และเกษตรจากต่างประเทศ แต่ยังมีแนวโน้มความนิยมการบริโภคสินค้าที่ผลิตจากท้องถิ่น เพื่อลดปัญหา Co2 Emission จากการขนส่งทางไกลจากต่างประเทศ รวมทั้งมั่นใจด้านความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตจากท้องถิ่น (food safety)

2. เดนมาร์กเริ่มพัฒนาปลูกผักไทยได้เอง และจัดจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต mainstream ทั่วไปแล้ว เช่น ใบโหระพา และผักชี โดยจัดจำหน่ายใน MENY กรุงโคเปนเฮเกน และยิ่งไปกว่านั้น เป็นการเพาะปลูกผักไทยออร์แกนิก ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการการบริโภคผักไทยออร์แกนิก ที่ยังไม่เคยพบเห็นผักใบโหระพา สาระแหน่ และผักชีออร์แกนิกนำเข้าจากประเทศไทย

3. ดังเช่นที่กล่าวไป เดนมาร์กมีความต้องการการบริโภคสินค้าออร์แกนิก แต่ไทยยังไม่สามารถผลิต/ส่งออกสินค้าออร์แกนิกได้ตามความต้องการของตลาด สินค้าออร์แกนิกที่มีความต้องการในตลาด แต่ยังไม่พบเห็นสินค้าจากประเทศไทยมากนัก เช่น ใบโหระพา สะระแหน่ ผักชี ใบมะกรูด น้ำมะพร้าว กะทิ มะม่วง และมะละกอ เป็นต้น

4. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตร และอาหารจากประเทศไทยถูกตรวจพบสารต้องห้าม และเป็นอันตราย 2 กรณีในเดนมาร์ก คือ การตรวจพบสาร triazophos ที่ไม่ได้รับอนุญาตในสินค้าลองกองสด เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 และพบสารเดียวกันอีกครั้งในกะเพรา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 65 โดยทางการได้เรียกสินค้าคืนจากผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรปอย่างรอบคอบ เนื่องจากเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์เข้มงวดการตรวจสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่พบอื่นๆ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ เช่น การตัดต่อทางพันธุกรรม สารเสริม E171 titanium dioxide ที่ไม่ได้รับอนุญาต สาร triazophos สารตกค้างเกินระดับตกค้างสูงสุด (MRL) ได้แก่ bifenthrin carbofuran chlorpyrifos fenobucarb chlorfenapyr omethoate, E.Coli, dimenthoate และ omethoate และสารตกค้างต่างๆ เป็นต้น

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.), สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

Login