หน้าแรกTrade insight > แนวโน้มของตลาดอาหารและเครื่องดื่มของไทย

แนวโน้มของตลาดอาหารและเครื่องดื่มของไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ศึกษาแนวโน้มของตลาดอาหารและเครื่องดื่มของไทย จากฐานข้อมูลของบริษัท Mintel ที่เป็นบริษัทข้อมูลด้านการตลาด ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
.
1️⃣ อาหารพร้อมรับประทาน
? ปี 2561 ตลาดอาหารพร้อมรับประทานในไทยมีมูลค่า 521 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าตลาดจะมีการเติบโตถึง 695 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 7.4 ในปี 2565
?แนวโน้มของตลาดอาหารพร้อมรับประทานของไทย ได้แก่
(1) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคในเมืองหลวงจะตั้งเป้าว่าจะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ผู้ผลิตจึงควรใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันอิ่มตัว น้ำตาลฟอกสี และเกลือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพยายามหลีกเลี่ยง
(2) ผู้บริโภคต้องการลองอาหารนานาชาติของแต่ละท้องถิ่น งานเทศกาลอาหารจึงเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในไทย อาหารพร้อมรับประทานก็สามารถเติมรสชาติหรือความแปลกใหม่ลงไปได้
(3) ผู้บริโภคต้องการมีทางเลือก จึงต้องการให้อาหารมีลักษณะที่ปรุงเองได้ (customize)
.
2️⃣ เนื้อสัตว์แปรรูป
? วัยทำงานให้ความสำคัญกับสุขภาพโดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ในปี 2561 มูลค่าของเนื้อสัตว์แปรรูปคิดเป็น 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยตั้งแต่ปี 2561-2565 ตลาดเนื้อสัตว์แปรรูปจะเติบโตได้ปานกลางร้อยละ 5.6 ต่อปี กระแสด้านสุขภาพทำให้ผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปลดลง
?แนวโน้มที่กำลังมีผลต่อตลาดเนื้อสัตว์แปรรูปของไทย ได้แก่
(1) ผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารเช้าระหว่างเดินทาง และรับประทานในขนาด (portion) ที่เล็กลงแต่รับประทานบ่อยขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับอาหารประเภทที่หยิบรับประทานได้ง่ายๆ (grab-and-go meal) และอาหารที่ให้สารอาหารในปริมาณสูง
(2) ผู้บริโภคส่วนมากให้ความสำคัญกับอาหารโปรตีนสูง เช่น กลุ่มนักกีฬา หรือกลุ่มที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ดังนั้นตลาดเนื้อสัตว์แปรรูปจึงมีศักยภาพที่จะขยายได้อีก โดยเจาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับโปรตีน
(3) ผู้บริโภคใส่ใจในสุขภาพ เนื้อสัตว์แปรรูปควรมุ่งที่สูตรอาหารที่มีไขมัน แคลอรี่ และน้ำตาลต่ำ และผ่านการแปรรูปให้น้อยลง
.
3️⃣ เครื่องดื่มสุขภาพ (functional drinks)
? ความสนใจในสุขภาพของผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในไทยเติบโต อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภค แบรนด์ต่าง ๆ จึงควรเน้นการประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งมีระบุสรรพคุณของเครื่องดื่มให้ชัดเจน
?แนวโน้มที่กำลังมีผลต่อตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทย ได้แก่
(1) ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงสายตา เนื่องจากใช้สายตามากในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันยังมีเครื่องดื่มไม่มากนักที่เน้นเรื่องการบำรุงสายตา
(2) ผู้บริโภคต้องการสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพใจ และวางแผนที่จะลดความเครียด เครื่องดื่มจึงควรเติมสารอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพใจ อาทิ อาหารที่มาจากพืชที่มีสรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลาย อุดมด้วยวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโนที่ช่วยคลายเครียด
(3) ผู้บริโภคนิยมอาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ และมาจากกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม โดยผู้บริโภคร้อยละ 67 เห็นว่า อาหารเพื่อสุขภาพคืออาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งหมด
.
4️⃣ น้ำผลไม้
? การขึ้นภาษีน้ำตาลส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีระดับน้ำตาลสูงทำให้การบริโภคน้ำผลไม้ลดลง ในปี 2561 มูลค่าตลาดน้ำผลไม้ของไทยลดลงจาก 392.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.7 พันล้านบาท) เป็น 366.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.3 พันล้านบาท) ในปี 2563 โดยตลาดน้ำผลไม้ของไทยคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.2 ต่อปี
?แนวโน้มที่กำลังมีผลต่อตลาดน้ำผลไม้ของไทย ได้แก่
(1) ผู้บริโภคมององค์รวมความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิต อาหารที่รับประทาน และสุขภาพผิว ว่าต้องสอดคล้องไปด้วยกัน จึงเป็นโอกาสสำหรับตลาดน้ำผลไม้ที่จะส่งเสริมความงามจากภายใน
(2) ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความตื่นตัวและช่างสงสัยมากขึ้น ในประเทศไทยร้อยละ 54 ของผู้บริโภคดูรายการส่วนผสม (ingredient lists) ขณะซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
(3) ผู้ผลิตสามารถเพิ่มประสบการณ์และคงคุณค่าทางอาหารได้ เช่น รับประทานเครื่องดื่มน้ำผลไม้ปั่น (smoothie) เพื่อความสะดวกสบาย และประสบการณ์ที่น่ารื่นรมย์
.
แนวโน้มของตลาดอาหารและเครื่องดื่มของไทย ???
.
ชาวไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพจึงมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผู้ผลิตควรใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรส สารฟอกสี และวัตถุกันเสียต่าง ๆ ในขณะเดียวกันควรเป็นอาหารที่รับประทานได้ง่าย และไม่ยุ่งยาก ตลาดอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยเฉพาะเริ่มขึ้นมามีบทบาท เช่น อาหารที่เน้นโปรตีน และเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเริ่มโยงค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้ากับการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ อาทิ เลือกซื้อหมูที่มาจากการเลี้ยงแบบอิสระ (free-range) ผู้ผลิตจึงสามารถนำจุดนี้มาเป็นการสร้างแบรนด์และเป็นจุดขายได้
.
สนค. จะดำเนินการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งกลุ่มสินค้าและบริการอื่น ๆ เพื่อหาช่องทางและโอกาสในการค้าให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยต่อไป

Login