หน้าแรกTrade insight > แนวโน้มการบริโภคเครื่องปรุงรสในครัวเรือนของจีนปี 2566

แนวโน้มการบริโภคเครื่องปรุงรสในครัวเรือนของจีนปี 2566

เนื่องด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสอาหาร เครื่องปรุงรสจึงตอบสนองความต้องการในการทำอาหารของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ และเครื่องปรุงรสก็กลายเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในมื้ออาหารประจำวันของผู้คน ในช่วงสามปีที่ผ่านมา การบริโภคเครื่องปรุงรสของจีนเติบโตในระดับสูง ซึ่งหลังการระบาดโรคโควิด 19 มูลค่าการจำหน่ายของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังคงรักษาอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตโดยแบ่งเดือน จะเห็นได้ว่า การเติบโตตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 6 แต่ในเดือนเมษายน อัตราการเติบโตลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1

ที่มา: Kantar Worldpanel

ไตรมาสแรกของปี 2566 เครื่องปรุงรสยังคงมีแนวโน้มอัตราการเติบโตในเชิงบวก ซึ่งมีผลมาจากผู้บริโภคทำอาหารที่บ้านเองในช่วงเทศกาลตรุษจีนทำให้ความต้องการเครื่องปรุงรสมากขึ้น ต่อมาเนื่องด้วยหลังจากที่ชีวิตของผู้บริโภคกลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าผู้คนจะออกไปรับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้น ทำให้อัตราการเติบโตของเครื่องปรุงรสอาหารในเดือนมีนาคมและเมษายนเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครื่องปรุงรสเป็นสินค้าจำเป็น จึงทำให้มีความต้องการสินค้าประเภทนี้เช่นเดิม

ตามรายงานของ Kantar Worldpanel ระบุว่า ตลาดเครื่องปรุงรส หมวดหมู่ที่มีฐานผู้บริโภคสูงที่สุดคือซีอิ๊ว โดยมีอัตราการเจาะตลาด (Market penetration rate) อยู่ที่ร้อยละ 93 ซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่ต้องมีเกือบทุกครัวเรือน เมื่อพิจารณาโดยแยกประเภทซีอิ๊ว พบว่า ซีอิ๊วขาวเป็นประเภทที่มีการบริโภคมากที่สุด รองลงมาคือซีอิ๊วที่ทำจากถั่วเหลือง ซีอิ๊วปรุงรสตามอาหาร และซีอิ๊วดำ หมวดหมู่ที่มีสัดส่วนตลาดเป็นอันดับสอง ได้แก่ ซอสปรุงรสต่างๆ ของจีน เช่น ซอสเต้าเจี้ยว ซอสพริก ซอสก๋วยเตี๋ยวจีน เป็นต้น โดยมีอัตราการเจาะตลาดสูงถึงร้อยละ 8

ที่มา: Kantar Worldpanel

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้บริโภคของจีน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประเภทของครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวหนุ่มสาวที่ไม่มีบุตร ครอบครัวที่มีบุตร ครอบครัววัยกลางคน (สมาชิกทุกคนมีอายุมากกว่า 18 ปี) และครอบครัวกลุ่มวัยกลางคน ครอบครัวผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพัง จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีความสนใจและพฤติกรรมการซื้อเครื่องปรุงรสที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าความถี่ในการซื้อใน 52 สัปดาห์จนถึงเดือนมี.ค. ปี 2566 ครอบครัวผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังมีจำนวนการซื้อมากที่สุดถึง 112 ครั้ง ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่มีความปรารถนาที่จะซื้อมากที่สุดคือครอบครัวที่มีบุตร และสำหรับราคาซื้อเฉลี่ยการบริโภคเครื่องปรุงรส ตามข้อมูลระบุว่า มีราคาเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 108 หยวนซึ่งเป็นผู้บริโภคครอบครัวหนุ่มสาวที่ไม่มีบุตรมีราคาเฉลี่ยการบริโภคสูงสุด

ที่มา: Kantar Worldpanel

เมื่อเทียบกับครอบครัวกลุ่มอื่นๆ แล้ว ครอบครัวหนุ่มสาวที่ไม่มีบุตร มีการบริโภคเครื่องปรุงรสน้อยมาก เนื่องจากจะไม่นิยมทำอาหารเอง แต่เต็มใจที่จะซื้อสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยสูง และมักจะนิยมซอสแบบตะวันตกมากกว่า เพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและสามารถยอมรับอาหารที่หลากหลายได้  ส่วนครอบครัวที่มีบุตรจะซื้อเครื่องปรุงมากกว่าครอบครัวกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากให้ความสำคัญกับสุขภาพและโภชนาการมาก ซึ่งจะนิยมซีอิ๊วเกลือต่ำไร้สารปรุงแต่ง สลัดแคลอรีต่ำหรือซอสไร้สารปรุงแต่ง โดยสินค้าเครื่องปรุงรสที่ดีต่อสุขภาพ ล้วนมียอดขายเติบโตเป็นเลขสองหลักในกลุ่มประชากรนี้ สำหรับครอบครัววัยกลางคนและผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังจะนิยมไปจ่ายตลาดบ่อย และยังคงกระตือรือร้นเกี่ยวกับการทำอาหาร และยึดหลักการดำเนินชีวิตแบบประเพณีดั้งเดิม ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มการบริโภคเครื่องปรุงรส ประเภทน้ำมันงาและผงชูรสสูง ขณะเดียวกันผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีส่วนการบริโภคเครื่องปรุงหมวดหมู่ใหม่ๆ ที่สูงด้วย เช่น เครื่องปรุงรสตามอาหารมีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 30 จากผู้บริโภคกลุ่มนี้ รวมถึงซีอิ๊วขาวและซอสถั่วเหลืองก็มีการเติบโตเป็นเลขสองหลักเช่นกัน

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนและการบริโภคของประชาชนก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีความต้องการด้านสุขภาพและรสชาติอาหารที่สูงขึ้น และยินดีที่จะจ่ายให้สำหรับอาหารพิเศษและอาหารเพื่อสุขภาพในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเครื่องปรุงรสก็ได้สะท้อนแนวโน้มการบริโภคที่ยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพิจารณาจากการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคของจีน พบว่า อัตราการเติบโตในการบริโภคธัญพืช น้ำมัน ข้าว และเส้นก๋วยเตี๋ยว ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงอัตราการเติบโตของการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งก็ชะลอตัวเช่นกัน ซึ่งมีเพียงสินค้าเครื่องปรุงรสยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้สองปีติดต่อกัน ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีฐานความต้องการเครื่องปรุงรสที่มั่นคง ซึ่งนอกจากจะมีปัจจัยมาจากการที่เครื่องปรุงรสเป็นสินค้าจำเป็นแล้ว ยังมีปัจจัยผลักดันให้มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนี้:

  1. ความสะดวกสบาย เป็นสิ่งดึงดูดใจให้กับผู้บริโภค เช่น ยอดขายต่อปีของเครื่องปรุงรสอาหารเติบโตถึงร้อยละ 8 นอกจากนี้ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานสะดวก ก็มีส่วนที่เพิ่มยอดขายได้เช่นกัน เช่น ซอสหอยนางรมแบบขวดพลาสติกที่ใช้งานโดยการบีบ ก็มียอดขายเติบโตเกิน 100% ต่อปี สะท้อนว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิต
  2. เทรนด์การรักสุขภาพ โดยการบริโภคซีอิ๊วที่ไม่มีสารเติมแต่ง ซีอิ๊วลดโซเดียมหรือซอสสไตล์ตะวันตกที่ไม่มีไขมัน สินค้าเหล่านี้มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักหรือเกือบ 50% ซึ่งอัตราการเติบโตของเครื่องปรุงรสเหล่านี้ สามารถสะท้อนแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าตลาดเครื่องปรุงรสของจีน มีโอกาสที่จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเครื่องปรุงรสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการควรศึกษาเทรนด์การบริโภคเครื่องปรุงรสที่เข้าถึงรสนิยมและตรงกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มในจีน เช่น ผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่นชาวจีนส่วนใหญ่จะชอบความรวดเร็ว หากจะปรุงอาหารเองก็จะเลือกปรุงแบบง่ายๆ วิธีการทำไม่ยุ่งยาก ผู้บริโภคกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก ต้องการเครื่องปรุงที่ดีต่อสุขภาพ โดยมีโภชนาการและคุณค่าทางอาหาร เพื่อสามารถผลิตและสร้างสรรค์เครื่องปรุงรสใหม่ๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ง่ายๆ สะดวก มีคุณค่าทางอาหารและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ในจีน ซึ่งอาจจะสร้างโอกาสที่ดีให้กับแบรนด์และขยายตลาดในจีนได้ในอนาคต

ภาพ: http://www.canyin58.com/zixun/tay62yz83401.html

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

21  กรกฎาคม  2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login