ปี 2566 การบริโภคภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากราคาสินค้าอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ และเงินเยนที่อ่อนค่าลง ขณะที่การบริโภคในร้านอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของการท่องเที่ยว
ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 แสดงถึงมูลค่าการบริโภคเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2566 ต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 เมื่อปี 2562 โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน สำหรับครัวเรือนที่มีสองคนขึ้นไป ติดลบครั้งแรกในรอบสามปี อยู่ที่ 294,116 เยน ลดลงร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ ผลสำรวจราคาสินค้าอาหารโดย Teikoku Databank พบว่าสินค้ามากกว่า 5,000 รายการ มีการปรับราคาขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 42 ปี นับตั้งแต่ปี 2524 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับดัชนีราคาอาหาร (ไม่รวมอาหารสด) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ปี 2567 อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัว ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2566 ที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่การบริโภคอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ขยายตัวกว่าร้อยละ 70 เทียบกับปีก่อนหน้า)
ที่มาข่าว : เข้าถึง วันที่ 13 พฤษภาคม 2567
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUA100PA0Q4A510C2000000/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา
อ่านข่าวฉบับเต็ม : แนวโน้มการบริโภคส่วนบุคคลของญี่ปุ่น