หน้าแรกTrade insight > แนวโน้มการค้าสินค้าอาหารทานเล่นของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แนวโน้มการค้าสินค้าอาหารทานเล่นของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

📚 ข้อมูลการค้าอาหารทานเล่นในไทย
.
จากข้อมูลปี 2019 ธุรกิจอาหารทานเล่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีมูลค่ามากกว่า 139,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นร้อยละ 12 ในช่วง 4 ปีข้างหน้า จากการที่ผู้บริโภคหันมารับประทานอาหารทานเล่นที่ดีต่อสุขภาพเป็นทางเลือกบ่อยขึ้นในแต่ละวัน
.
26% – ผู้บริโภคในประเทศไทย รับประทานอาหารทานเล่นแทนมื้อเย็น
61% – ผู้บริโภคทั่วโลกชื่นชอบการบริโภคอาหารทานเล่นในระหว่างมื้ออาหาร
45% – ผู้บริโภคทั่วโลกใส่ใจคุณค่าสารอาหารจากอาหารทานเล่นมากขึ้น
.
ส่งผลให้ตลาดอาหารทานเล่นของไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตเกือบร้อยละ 15 ในอีก 4 ปีข้างหน้าที่มูลค่ามากกว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 105,000 ล้านบาท

ข้อมูลบริษัท Mintel ระบุมูลค่าการค้าปลีกอาหารทานเล่นในไทยในปี 2019 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (กราฟ)
.
โดยในปี 2017 มีส่วนแบ่งทางการตลาด (แผนภูมิวงกลม)

📚 ข้อมูลการส่งออกอาหารทานเล่นของไทยในตลาดตะวันออกกลาง
.
อาหารทานเล่น สามารถอยู่ในรูปแบบทั้งขนมปัง บิสกิต ฯลฯ รวมทั้ง สามารถแปรรูปจากผักผลไม้ หรือธัญพืชได้ด้วย จากข้อมูลตัวเลขส่งออกของไทยไปยังตลาดตะวันออกกลาง สำหรับสินค้าพิกัด 1905 ได้แก่ สินค้ากลุ่มขนมปัง เพสทรี เค้ก บิสกิต และขนมจำพวกเบเกอรี่อื่นๆ (Bread, pastry, cakes, biscuits and other bakers’ wares, whether or not containing cocoa; communion …) พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 ไทยส่งออกสินค้าพิกัด 1905 ไปตะวันออกกลาง เป็นมูลค่า 11.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.5 ของการส่งออกสินค้าพิกัด 1905 จากไทยไปโลก)
.
แต่เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ถึงร้อยละ 38 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก คือ

👳‍♂️🧕 แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคอาหารว่างในภูมิภาคตะวันออกกลาง
.
ก่อนหน้านี้ธุรกิจอาหารทานเล่นขึ้นอยู่กับความสะดวกสบาย แต่ผู้บริโภคในวันนี้กำลังมองหาทางเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมอาหารจากธรรมชาติ มีส่วนแต่งเติมเพียงเล็กน้อย ซึ่งรู้ที่ไปที่มาและจะทำให้อิ่มได้นานขึ้น รวมทั้งช่วยให้ทำได้ตามเป้าหมายของการได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอทั้งต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและการออกกำลังกาย
.
นอกจากนี้ จากการที่ประชากรเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย ทำให้มีความใส่ใจถึงความสำคัญในการมีไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟและมีสุขภาพที่ดี ผู้บริโภคจึงมีความสนใจทางเลือกในการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายมากขึ้น
.
จากบทวิเคราะห์เรื่อง โอกาสของอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพในตะวันออกกลาง “Opportunities for healthy snacks in the Middle East” จากแหล่งข้อมูลบริษัท Mintel ระบุว่ารัฐบาลและบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคตะวันออกกลางพยายามที่จะลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในส่วนประกอบของอาหาร ทำให้เกิดโอกาสสำหรับตลาดอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ (Healthy Snacks) โดยได้คาดการณ์แนวโน้มของตลาดสำหรับอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็น

💡📊📚 คาดการณ์แนวโน้มของตลาดสำหรับอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ (1/3)
.
คาดการณ์ว่าจะมีอาหารทานเล่นที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมในระดับต่ำมากขึ้นในตลาด
.
ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของหน่วยงานภาครัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางที่กำหนด ให้สินค้าอาหารทานเล่นลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาประเทศซาอุดิอาระเบีย (The Saudi Food and Drugs Authority: SFDA) และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศการ์ตา (Qatar’s Ministry of Public Health: MoPH) เป็นหน่วยงานของรัฐล่าสุดที่ริเริ่มการลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งแผนงานดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วนของประชากรในภูมิภาค
.
นอกจากนี้ ในปี 2018 บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ อาทิเช่น Kellogg’s, Arabia, Mars Saudi Arabia และ Nestle Middle East ร่วมลงนามด้วยความสมัครใจในการลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารผ่านการปรับโครงสร้าง ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวยังให้คำมั่นที่จะแนะนำฉลากโภชนาการที่ชัดเจนขึ้นบนสินค้าภายในปี 2030

💡📊📚 คาดการณ์แนวโน้มของตลาดสำหรับอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ (2/3)
.
ปรับเปลี่ยนจากอาหารที่ให้พลังงานต่ำไปสู่อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
.
ผู้ผลิตอาหารทานเล่นควรจะปรับเปลี่ยนสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคโดยนำเสนอสูตรอาหารที่เน้นการมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าเพื่อลดน้ำหนัก
.
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตอาหารสัญชาติฮังการี Felfoldi นำเสนอภัณฑ์ใหม่ที่เป็นอาหารว่างจากชีส (cheese snacks) ชื่อว่า Lets Cheese! ในตลาดตะวันออกกลาง โดยมีส่วนผสมร้อยละ 100 จากชีสแท้ แต่ใช้การอบแทนการทอด มีให้เลือก 2 รสด้วยกัน คือรส classic กับรส cheddar โดยทั้งสองรสชาติประกอบ ไปด้วยโปรตีน 25 กรัม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีของแคลเซียมและซีลีเนียม ทั้งนี้ ผู้ผลิตระบุว่าสินค้ามีเป้าหมายเพื่อผู้บริโภคอายุน้อยที่ตระหนักถึงสุขภาพเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา แม้ว่าอาหารทานเล่นที่ผ่านการแปรรูปอย่างซับซ้อนจะเป็นที่นิยมอย่างมากในตะวันออกกลาง แต่ก็ยังมีโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง Let’s Cheese! ที่นำเสนอทั้งด้านคุณค่าทางอาหารและส่วนประกอบที่มีคุณภาพสูง
.
นอกเหนือจากบริษัท Felfoldi แล้ว Taqa เบเกอรี่สัญชาติเลบานอน ได้นำแนวคิดของการ “ทำขนมที่ปราศจากความผิด” มาใช้ โดยคำว่า “Taqa” หมายถึง พลังงานในภาษาอาราบิก สอดคล้องกับภารกิจของบริษัทที่ต้องการจะเป็นผู้นำในตลาดตะวันออกกลางสำหรับสินค้าอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ สะดวก และรับประทานง่ายโดยขนมชื่อ “Taqabars” มีส่วนผสมร้อยละ 100 จากธรรมชาติ ได้แก่ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรน์ ธัญพืช และสารให้ความหวานจากผลอินทผาลัมและน้ำตาลอ้อย ทั้งนี้ Taqa ระบุว่าที่ผ่านมา ตลาดในประเทศเลบานอนมุ่งเน้นสินค้าที่ให้พลังงานน้อยและช่วยลดน้ำหนัก ดังนั้น Taqa จึงหวังว่าผลิตภัณฑ์ล่าสุดจะปรับเปลี่ยนแนวทางตลาดให้มุ่งเน้นไปที่สุขภาพและประโยชน์ทางโภชนาการมากขึ้น

💡📊📚 คาดการณ์แนวโน้มของตลาดสำหรับอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ (3/3)
.
การประชาสัมพันธ์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะมีมากขึ้น
.
การใช้โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอายุน้อย เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพอาจส่งผลดีต่อปัญหาโรคอ้วนในภูมิภาคโดยเฉพาะในเด็ก จากการสำรวจพบว่าเด็ก 9 ใน 10 คน ในประเทศซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เวลาเฉลี่ย 2.5 ชั่วโมงต่อวัน เล่นสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์แทบเลต นอกจากนี้ จากแบบสอบถามออนไลน์ จัดทำโดย YouGov Omnibus พบว่าการเพิ่มมากขึ้นของอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือและแทบเลตของเด็ก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กในประเทศซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ ร้อยละ 69 ของพ่อแม่ในทั้งสองประเทศ ตระหนักดีถึงความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เทคโนโลยีอย่างมากเกินไปกับโรคอ้วนในเด็ก ผลการศึกษาฯ ยังระบุว่ามีพ่อแม่มากขึ้นที่สนับสนุนให้เด็กๆ ออกกำลังกายในพื้นที่โล่งภายนอกอาคารมากขึ้น รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับโภชนาการ และจำกัดระยะเวลาการจ้องสายตาอยู่หน้าจอโทรศัพท์หรือแทบเลต
.
บริษัท Nestle ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทผลิตอาหารเจ้าใหญ่ของโลกที่ให้การสนับสนุนเด็กๆ ให้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Nestle เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติ (Workshop) การกินและปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับเด็กๆ ในประเทศอิยิปต์ โมรอคโค ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจระดับโลกของบริษัทฯ ที่ต้องการจะช่วยให้เด็กๆ มีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นภายในปี 2030 นอกจากนี้ Nestle ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผักผลไม้ธัญพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ลดน้ำตาล เกลือ และไขมันอิ่มตัวในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ อีกด้วย
.
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับการกินเพื่อสุขภาพ ทำให้เกิดโอกาสที่แบรนด์ของสินค้าต่างๆ จะเป็นพันธมิตรกับผู้มีอิทธิพลของโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่น บล็อกเกอร์ต่างๆ เป็นต้น จากการศึกษาของ YouGov พบว่า
.
68% – ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่าการตัดสินใจรับประทานอาหารของพวกเขานั้น ได้รับอิทธิพลจากนักชิมในโซเชียลมีเดีย
.
70% – ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อติดตามผู้มีอิทธิพลด้านอาหารบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Facebook, YouTube และ Instagram
.
โดย Sally Fouad เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการกินของคนยุคปัจจุบัน โดย Sally เป็นนักโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรอง เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ และ brand ambassador จากอียิปต์ที่แบ่งปันคำแนะนำเรื่องอาหารและสูตรอาหารเพื่อสุขภาพผ่านช่องทาง Instagram และ YouTube นอกจากนี้ Sally ยังแนะนำแครกเกอร์เพื่อสุขภาพจากสูตรของตัวเองในการขายปลีก โดยแครกเกอร์เพื่อสุขภาพของ Sally ทำจากเมล็ดอัลมอนด์และเมล็ดเชีย (chai seeds) ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีน มีไฟเบอร์ วิตามินบีและอี แคลเซียมและแมกนีเซียม โดย Sally อ้างว่าแครกเกอร์นี้สามารถลดคอเลสเตอรอล และปรับสมดุลความดันโลหิตได้

📊💰 โอกาสสำหรับอาหารทานเล่นที่ดีต่อสุขภาพ (healthy snacks) ยังมีอยู่มากในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังมีความพยายามของหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมความพยายามลดส่วนผสมที่ไม่พึงประสงค์ในอาหารแปรรูป ทั้งนี้ ภูมิภาคตะวันออกกลางได้เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงของอาหารทานเล่นที่ผ่านการแปรรูปอย่างซับซ้อน ไปยังผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าซึ่งให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้น เพื่อต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของอัตราประชากรที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคอ้วน โดยมีหลายบริษัทที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตอาหารทานว่างเพื่อสุขภาพ และแพร่กระจายความตระหนักรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคที่มีอายุน้อยมากขึ้น
.
📊💰 ข้อเสนอแนะการปรับตัวของธุรกิจส่งออกอาหารทานเล่นไทยในตลาดตะวันออกกลาง
.
1 – ปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของอาหารทานเล่นให้มีวัตถุประสงค์เพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยอาจพิจารณานำผักผลไม้มาแปรรูปเป็นอาหารทานเล่น เช่น การอบแห้ง การใช้เป็นส่วนประกอบร่วมกับธัญพืชในการผลิต snack bar เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุซึ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพ
.
2 – ส่งเสริมการผลิตอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ ด้วยการลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารผ่านการปรับโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง ต้องแนะนำคุณประโยชน์ดังกล่าวผ่านฉลากโภชนาการที่ชัดเจนขึ้นบนตัวสินค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
.
3 – ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่สินค้าอาหารทานเล่นที่ดีต่อสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ให้พ่อแม่รับทราบถึงคุณประโยชน์ที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเด็กๆ ผ่านสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เข้าถึงข่าวสารต่างๆ ผ่านช่องทางนี้เป็นสำคัญ รวมทั้ง ให้ความเชื่อถือในตัวสินค้าที่มีผู้นำเสนอเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆ เป็นอย่างมาก
.
4 – กระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น อิรัก ที่มีการนำเข้าสินค้าพิกัด 1905 มากที่สุดอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง รองจากซาอุดิอาระเบีย แต่ไทยยังส่งออกไปน้อย
.
ตลาดตะวันออกกลางมีสัดส่วนตลาด (Market Segmentation) สินค้าฮาลาลจำนวนมาก ดังนั้น การปรับตัวของธุรกิจอาหารทานเล่นจึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม พัฒนากลไกการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่น่าเชื่อถือยอมรับของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login