ในปัจจุบัน ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงาม หรือ Beauty Marketเป็นตลาดที่ได้รับความนิยม และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 มูลค่าตลาด Beauty Market ทั่วโลกอยู่ที่ 427,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ในอเมริกาเหนืออยู่ที่ 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยอดขายสินค้า Beauty Market ในอเมริกาเหนือ นับว่าสูงเป็นอันดับสองรองจากยอดขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ คาดว่าสำหรับภูมิภาคอเมริกาเหนือนั้น ยอดขายของตลาดดังกล่าวจะโตขึ้นถึง 6% ต่อปี ทำให้คาดการณ์มูลค่าตลาดในปี 2570 นั้น จะสูงถึง 114,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อนึ่ง ตลาด Beauty Market สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง และน้ำหอม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว นับว่ามีสัดส่วนตลาดที่มากที่สุด โดยมีสัดส่วนตลาดสูงถึง 45% ของมูลค่าตลาด Beauty Market ทั้งหมด จากการวิเคราะห์ของบริษัท Mckinsey & Company ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจะเติบโตมากที่สุดในระยะเวลา 5 ปีนี้ โดยคาดว่าจะโตขึ้นถึง 7% ทำให้โอกาสในการเพิ่มยอดขายสูง 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปี 2565 ยอดขายของผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมนั้นอยู่ที่ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะโตรองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งคาดว่าจะโตขึ้น 6% และมีโอกาสในการเพิ่มยอดขายในระยะเวลา 5 ปี ที่สูงถึง 10,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางคาดว่าจะโตขึ้น 6% และมีโอกาสในการเพิ่มยอดขายสูงถึง 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสำหรับสินค้าในกลุ่มน้ำหอมนั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 16% และคาดว่ายอดขายจะโตถึง 6% ต่อปี ทำให้โอกาสในการเพิ่มยอดขายนั้นจะอยู่ที่ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ความนิยมและเทรนด์ในการเติบโตของสินค้าในแต่ละกลุ่มสินค้ามีความแตกต่างกัน สำหรับสินค้าในกลุ่มแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว สิ่งสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดนั้นยังคงเป็นในด้านของนวัตกรรมและประสิทธิภาพของสินค้า ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแบรนด์ชั้นนำ (mass) จะยังคงมีสัดส่วนตลาดที่มากที่สุด เทรนด์ของสินค้าในกลุ่มนี้นั้น พบว่าจะเน้นไปที่ความหรูหรามากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า “Premiumization” โดยสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มหรูหราและพรีเมี่ยมนั้น คาดว่าจะมียอดขายโตขึ้นถึง 11% ในระยะเวลา 5 ปี
สำหรับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมนั้น เทรนด์ในปัจจุบันจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่ดูแลไปถึงหนังศรีษะ หรือ “Skinification of hair” เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันจะมีกิจวัตรในการดูแลเส้นผมที่หลากหลายขั้นตอนมากขึ้นคล้ายคลึงกับการดูแลผิว นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคมีความพร้อมที่จะทดลองนวัตกรรมใหม่มากกว่าสินค้าในกลุ่มอื่นๆ
สำหรับสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางนั้น พบว่าในปัจจุบัน ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าคุณภาพดีไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพสูง ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้บริโภคต่อคำสั่งซื้อสำหรับสินค้าในหมวดหมู่เครื่องสำอางนั้นน้อยลงในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ด้วยความที่สินค้าจะเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ การรีวิวสินค้าของผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดียแบบใช้จริงจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่จะผลักดันให้สินค้าเป็นสินค้ายอดนิยมได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าในปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมที่จะทดลองและเปิดใจให้กับแบรนด์ใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น และมักจะไม่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง จากการสำรวจผู้บริโภคโดยบริษัท Mckinsey & Company พบว่ากว่า 50% ของผู้บริโภคจะใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และน้ำหอม มากกว่า 3 แบรนด์ขึ้นไปในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ 30% ของผู้บริโภคจะใช้เครื่องสำอางมากกว่า 5 แบรนด์
อีกหนึ่งแนวโน้มที่สำคัญในสหรัฐฯ คือการที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์กับความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness) สุขภาพกาย และสุขภาพจิต มากกว่าในด้านความสวยความงาม สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติบำบัด ยาโบราณ อาหารเสริม เทียนหอมในบ้าน ตลอดจนอุปกรณ์เพื่อความงามต่างๆ เช่น เครื่องมาร์กหน้า LED และเครื่องขัดหน้าแบบ Microdermabrasion ทั้งนี้ ในปัจจุบันนั้น มูลค่าของผลิตภัณฑ์ Wellness ในตลาดสหรัฐฯ นั้นสูงถึง 450,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่นี้ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ ได้แก่ เทียนหอมและเครื่องหอมในบ้าน หรือ โดยกว่า 70% ของผู้บริโภคนั้นมักจะซื้อเทียนหอมและเครื่องหอมในบ้านมาใช้อย่างสม่ำเสมอ นิยมรองลงมา ได้แก่ สินค้าอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ (48%) สินค้าสปาและทรีตเมนต์ (36%) และสินค้าช่วยในการนอนหลับที่ดี (28%)
ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลากหลายแบรนด์ในปัจจุบัน เพิ่มผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ Wellness มากยิ่งขึ้น เช่น แบรนด์ Rituals ได้ออกผลิตภัณฑ์โลชั่นเพื่อช่วยในการนอนหลับ เทียนหอม และน้ำมันนวดอีกด้วย นอกจากนี้ สำหรับการจัดจำหน่าย ยังพบว่าห้างสรรพสินค้าชั้นนำของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Bloomingdale และ Saks Fifth ต่างเพิ่มหมวดหมู่สินค้า Wellness โดยเฉพาะในเว็บไซต์ออนไลน์
สำหรับช่องทางในการซื้อสินค้านั้น พบว่ายอดขายของสินค้าทางออนไลน์นั้นสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 22% ของยอดขายสินค้า Beauty Market ทั้งหมด ตามมาด้วยการซื้อจากร้านค้าปลีก เช่น Sephora และ Ultra Beauty ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ 20% และห้างสรรพสินค้าทั่วไป 8% นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดขายของช่องทางออนไลน์นั้นโตเร็วกว่ายอดขายของการค้าปลีกทั่วไป โดยยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์นั้นโตขึ้นถึง 13.6% ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดขายผ่านร้านค้าปลีกโตขึ้นเพียง 10.1% แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแพลตฟอร์มดิจิทัลในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคในปัจจุบันจะค้นพบสินค้า Beauty Product ใหม่ๆ จากโซเชียลมีเดียถึง 45% โฆษณาโทรทัศน์ 30% การจัดแสดงสินค้าในร้านค้า 25% และจากการค้นหาผ่าน Search Engine เช่น google 17%
ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก
สินค้าในกลุ่ม Beauty Market นับว่าเป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งนี้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน แต่สินค้าในกลุ่มนี้ นับว่าเป็นสินค้าที่ยอดขายยังคงดี และมีการบริโภคอย่างไม่ขาดช่วง สินค้าไทยจึงนับว่ามีโอกาสสูงที่จะเข้ามาเจาะตลาดสินค้าในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ แนวโน้มนิยมบริโภคสินค้าในกลุ่ม Wellness ของชาวอเมริกันนั้นยังนับว่าเป็นโอกาสของสินค้าไทย เนื่องจากสินค้าไทยมีศักยภาพสูง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคสินค้าที่คุณภาพสูง และไม่เกี่ยงราคา ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเจาะตลาดสหรัฐฯ จึงควรที่จะใส่ใจในด้านคุณภาพสินค้าอย่างมาก และอาจเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เช่น ทางออนไลน์ เป็นต้น
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)